รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 15, 2014 11:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ส.ค.57 หดตัวร้อยละ -11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.26 ล้านล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 46.9 ของ GDP
  • อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP ญี่ปุ่น ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราว่างงานสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • การส่งออกจีน เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า หดตัวร้อยละ -2.1
  • อัตราว่างงานเกาหลีใต้ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่อัตราว่างงานออสเตรเลีย เดือน ส.ค. ญ 57 ลดลงมาที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators            Forecast    Previous
Aug : TISI  (Index)     91.5        89.7
  • เนื่องจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐมีทิศทางชัดเจน รวมถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ภายหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องและจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตต่อไป
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ตามการลดลงของผลผลิตข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 สอดคล้องกับผลผลิตมันสำปะหลัง ที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวโพด ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกรและไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนส.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.2 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานทั้งในประเทศและตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.8 ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาผลผลิตกุ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือนส.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.08 ล้านคน หดตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มแอฟริกาใต้ขยายตัวร้อยละ 23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มอื่นๆ ยังคงหดตัว เช่น อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ยุโรป ที่หดตัวร้อยละ -21.6 -10.8 และ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.26 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอลงของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ภาคธุรกิจ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงรักษามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดเพื่อรอดูความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินฝากขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ชะลอลง ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินจะระดมทุนผ่านเงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,662.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 7.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.9 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2.1 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกพันธบัตรจำนวน 3.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.4 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.3 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • การจ้างงานเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 38.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 1.7 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปี โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และการซ่อมจักรยานยนต์มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 4.0 แสนคน รองลงมาคือ สาขาการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.7 แสนคน ในขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การจ้างงานในช่วง 8 เดือนของปี 57 ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.87 แสนคน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 91.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.7 เนื่องจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ของภาครัฐมีทิศทางชัดเจน รวมถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ภายหลังจากมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องและจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตต่อไป

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ส.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 142 พันตำแหน่ง ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคบริการทางธุรกิจและวิชาการ และภาคบริการสุขภาพเป็นสำคัญ ขณะที่การจ้างงานในภาคการค้าปลีกปรับลดลง 8 พันตำแหน่ง เนื่องจากการจ้างงานในร้านขายอาหารและเครื่องดื่มที่ลดลง ผลส่วนหนึ่งจากการประท้วงหยุดงานของซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อมาร์เก็ตบาสเก็ต จำนวน 25,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราการว่างงานแบบไม่เต็มเวลาที่ปรับลดลง ในขณะที่อัตราการว่างงานของการจ้างงานเต็มเวลาปรับสูงขึ้น เนื่องจากแรงงานไม่สามารถหางานเต็มเวลาได้

China: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 14.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -1.5 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในอัตราสูง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนภาคการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ยังคงผันผวนและการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า และชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเป็นสำคัญ

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวเร่งขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 41.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 41.8 จุดในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในระดับเฉลี่ยสูงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 57 สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ยังคงเป็นบวกต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57(ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือไม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามเศรษฐกิจของประเทศหลัก โดยเฉพาะเยอรมนีและอิตาลีที่หดตัว นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังเปราะบาง จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด อาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในได้

South Korea: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานภาคเกษตรและประมงที่ลดลงเป็นสำคัญ

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.6 จากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่หดตัว ร้อยละ -18.6

Malaysia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากการส่งออกไปจีนที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -14.4 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 จากการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -17.9 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 เกินดุล 3.6 พันล้านริงกิต ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากการผลิตในทุกภาคส่วนที่ขยายตัวชะลอลงจนถึงหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหมืองแร่ที่หดตัวร้อยละ -7.9

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 21.3 จากการส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ที่หดตัว ร้อยละ -26.5 เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในแต่ละหมวดที่เริ่มทรงตัว

United Kingdom: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 หดตัวร้อยละ -18.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนก่อน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 57 ขาดดุล 1.3 หมื่นล้านปอนด์ ขาดดุลในระดับสูงที่สุดในรอบ 21 เดือน ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าวันที่ 18 ก.ย. 57 จะมีการลงประชามติของชาวสก็อตแลนด์ เพื่อตัดสินใจว่าจะแยกตัวจากสหราชอาณาจักรและตั้งเป็นรัฐเอกราชใหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่จะต้องจับตามองเพราะการตัดสินใจนี้มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคต

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังจีนและสหรัฐฯ เพื่อตอบรับการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือไอโฟน 6 ในเดือน ก.ย. 57 เป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ

Australia: improving economic trend

อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม เนื่องจากการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาเพิ่มขึ้นมากถึง 1.1 แสนตำแหน่งเป็นสำคัญแม้ว่าแรงงานในกำลังแรงงานจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.8 ของประชากรวัยทำงานในเดือนก่อน มาอยู่ที่ ร้อยละ 65.2 ก็ตาม

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ใกล้เคียงกับระดับ 1,583 จุด และมาปิดที่ 1580.87 จุด เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 57 ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 57,284 ล้านบาท โดยมีแรงขายของนักลงทุนรายย่อยในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากการขายทำกำไรเพื่อปรับฐานของนักลงทุน และตลาดยังคงจับตามองผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกและคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 2,107.31 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปีขึ้น ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ๆ ในการซื้อขาย และตลาดยังคงมีความกังวลว่า Fed จะประกาศลดขนาด QE ลงอีกในประชุมวันที่ 16-17 ก.ย. 57 นี้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,268.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 11 ก.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.45 จากสัปดาห์ก่อน เนื่องจากดัชนีค่าเงินเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่านี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินทุกสกุล ยกเว้นเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 11 ก.ย. 57 ปิดที่ 1,240.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่าต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,255.44 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ