รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 19 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2014 15:03 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวลงร้อยละ -5.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนส.ค.57 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม หดตัวที่ร้อยละ -14.1
  • วันที่ 17 ก.ย. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 88.7
  • ที่ประชุม FOMC ในวันที่ 16- 17 ก.ย. 57 มีมติลดขนาด QE ลงเหลือ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกสหภาพยุโรป เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวญ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                         Forecast  Previous
Aug : Passenger car sales (%yoy)     -35.0    -37.5
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนได้มีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ประชาชนชะลอการบริโภคสินค้าในหมวดคงทนออกไปก่อน
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ส.ค. 57 ได้จำนวน 203.2 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 36.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ -15.1 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.9 จากปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -6.4 จากปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.1 จากปีก่อน ตามการปรับลดอัตราภาษี และ(2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -6.3 จากปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - ส.ค. 57) ได้จำนวน 1,881.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.3 จากปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม. 168.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ -8.2
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ส.ค.57 มีมูลค่า 56.87 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -8.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ดีภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -9.7 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -4.5 จากเดือนก่อนหน้า) เนื่องจากสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นไปมากในปี 56 จากความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ก.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -24.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • วันที่ 17 ก.ย. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี จากการที่ กนง. ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันยังมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.4 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า)บ่งชี้ถึงการลงทุนในการก่อสร้างยังคงชะลอตัวในปี 57 เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงชะลอลง เช่นเดียวกับอุปทานที่ชะลอตัว สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ก.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -24.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.7 เป็นผลมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับหลายพื้นที่ของประเทศเกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ส.ค.57 คาดว่าหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -35.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -37.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนได้มีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้าจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ประชาชนชะลอการบริโภคสินค้าในหมวดคงทนออกไปก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ที่ประชุม FOMC ในวันที่ 16- 17 ก.ย. 57 มีมติลดขนาด QE ลงเหลือ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเข้าซื้อตราสาร MBS 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเกือบทุกหมวดที่ชะลอลง โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.6 เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 ลดลงมาที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากต้นทุนค่าขนส่ง ค่าบริการสุขภาพ และการศึกษาและโทรคมนาคมเป็นสำคัญ

China: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ราคาบ้าน เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 และต่ำสุดในรอบ 20 เดือน โดยราคาบ้านทุกเมืองลดลง สะท้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลงต่อเนื่อง

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีน (คู่ค้าสำคัญอันดับ 1 และ 2) หดตัวร้อยละ -4.4 และ -0.2 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 หดตัวชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ -1.5 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.2 เป็นสำคัญ ส่งผลให้ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 ขาดดุล -9.5 แสนล้านเยน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ที่หดตัว

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.8 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 21.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ร้อยละ 0.3 สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่ยังคงมีอยู่สูงต่อเนื่อง

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ผลจากราคาสินค้าในทุกหมวดขยายตัวเร่งขึ้น

Singapore: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.7 ผลจากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 36.8 เป็นสำคัญ ส่วนมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.6 จากการส่งออกไปยังเวียดนามและอินเดียที่ขยายตัว 19.9 และ 19.7 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -8.6 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.5 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัวร้อยละ 15.4 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 6.8 พันล้านดอลลาร์ อัตราว่างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ของกำลังแรงงานรวม คงที่จากไตรมาสก่อน ท่ามกลางตลาดแรงงานยังคงตึงตัว จากจำนวนการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเพิ่มขึ้น 22,000 ตำแหน่ง ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 28,300 ตำแหน่ง อีกทั้งการจ้างงานชาวต่างชาติอยู่ที่ 3,800 ตำแหน่ง ต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 52

UK: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากยอดขายสินค้าเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ภายในบ้านเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่หดตัวเร่งขึ้น อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.4 ในเดือนก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้นประมาณ 2.0 ล้านคน ผลอย่างไม่เป็นทางการ (31 จาก 32 เขต) ของการลงประชามติของสกอตแลนด์เมื่อ 18 ก.ย. 57 ระบุว่า ชาวสกอตแลนด์ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 55.4 ยังต้องการให้สกอตแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานในภาคบริการอาหารและเครื่องดื่ม ซ่อมแซม และค้าปลีกเป็นสำคัญ

South Korea: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวร้อยละ 5.2 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ยังคงหดตัวแม้ในอัตราชะลอลง และการส่งออกไปญี่ปุ่นและประเทศคู่ค้าอื่นในอาเซียนที่กลับมาหดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าจากญี่ปุ่นที่หดตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) เกินดุล 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

India: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากปัจจัยด้านอุปทานที่ผลผลิตลดลงเป็นสำคัญ มูลค่านำเข้าขยายตัวชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ 2.1 จากการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวร้อยละ -13.8 เป็นหลัก ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1.1 หมื่นล้านรูปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ชะลอลง และค่าพลังงานและเชื้อเพลิงที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 18 ก.ย. 57 ปิดที่ 1,570.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 44,979 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจาก ธปท. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ อีกทั้งผลการประชุม FOMC บ่งชี้ว่า Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอีกระยะ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 - 18 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,657.08 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับ US Treasury โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 - 18 ก.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,082.14 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 18 ก.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.27 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินทุกสกุล จากการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.33 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 18 ก.ย. 57 ปิดที่ 1,225.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งต่ำกว่าต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,232.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ