รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2014 11:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2557

Summary:

1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 57 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด

3. มูลค่าการส่งออกออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 57 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 69.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 70.1 จุด จากปัจจัยลบ ได้แก่ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 57 ที่ร้อยละ 1.5 และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 58 เหลือร้อยละ 4.8 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 5.5 เนื่องจากมองว่าการส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ และเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้า และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 57 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนนั้น เป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ภาคการส่งออกซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74.0 ของ GDP ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดมูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.9 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย เดือน ส.ค. 57 ยังคงหดตัวร้อยละ -11.9 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -10.9 อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงแข็งแกร่ง กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุด เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.2 ตามราคาน้ำมันที่ลดลง ด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งเสถียรภาพที่แข็งแกร่งนั้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในอนาคต ทั้งนี้ สศค. จะมีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปลายเดือน ต.ค. 57 นี้
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร (จัดทำโดย Markit/CIPS) เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า และต่ำสุดในรอบ 17 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีที่ระดับ 51.6 จุด แม้จะยังอยู่เหนือระดับ 50.0 จุดที่บ่งชี้การขยายตัว แต่เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกที่อยู่ที่ 56.9 จุด ค่อนข้างมาก สะท้อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มลดความร้อนแรงลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าคำสั่งซื้อใหม่ลดลง ธุรกิจใหม่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ประกอบกับธุรกิจใหม่ในด้านการส่งออกขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 1 ของสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนร้อยละ 37.6 (สัดส่วนปี 56) อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมของ สหราชอาณาจักร มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 13.9 ของเศรษฐกิจรวม (สัดส่วนปี 56) ดังนั้น หากเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะภาคบริการซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 79.0 ของเศรษฐกิจรวม ยังคงขยายตัวได้ดี จะเป็นปัจจัยบวกแก่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร
3. มูลค่าการส่งออกออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกออสเตรเลีย เดือน ส.ค. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดการส่งออกไปยังจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกันหดตัวร้อยละ -6.8 จากการนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม และยาสูบที่หดตัวเป็นสำคัญทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 57 ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนมาที่ -241 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของออสเตรเลียในเดือนดังกล่าวที่กลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฐานที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อดูรายละเอียดเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจออสเตรเลียที่มีสัดส่วนการพึ่งพาภาคการค้าระหว่างในระดับต่ำ ด้วยขนาดภาคการส่งออกสุทธิคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของ GDP กอปรกับระดับการเปิดประเทศเพียงร้อยละ 42.9 ของ GDP ในปี 56 สะท้อนการพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ภาคการส่งออกที่หดตัวนั้นน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก ทั้งนี้ เศรษฐกิจออสเตรเลียในครึ่งแรกของปี 57 ขยายตัวได้ดีเฉลี่ยร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับสัญญาณทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 57 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากยอดค้าปลีกซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางออสเตรเลียคงไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี จะเป็นอีกแรงสนับสนุนการเติบโตทั้งการบริโภคและการลงทุนในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 57 จะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ