รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 - 14 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2014 14:42 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 57 ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.28 ล้านล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,690.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 40.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.6
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.7
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อน
  • อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราเงินเฟ้อจีน เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.9
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน ก.ย. 57 ceเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators             Forecast   Previous
Oct : TISI (%yoy)        86.0       86.1
  • ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการซบเซาของภาวะเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่มีแนวโน้มในการขยายการลงทุน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลง คาดว่าจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 57 ที่ยังคงหดตัวในอัตราเร่งที่ ร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่ยังคงลดลง และตลาดของสินค้าบางประเภทไม่มีการสั่งซื้อเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาลของสินค้านั้น
Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 57 ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.28 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อและเงินฝากในเดือนดังกล่าวยังคงขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 5.2 และ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีการระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 57 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน จากความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีกว่าช่วงครึ่งแรกของปี กอปรกับนโยบายสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,690.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 40.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้นสุทธิ 11.1 พันล้านบาท โดยมีรายการสำคัญจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ออกพันธบัตร 10.0 พันล้านบาท และมีการเบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 2.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 97.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.7 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.6 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในการก่อสร้างยังคงหดตัว เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงทรงตัว
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวร้อยละ-5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.2 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 สอดคล้องกับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และยางพาราที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และฝนตกชุกหนาแน่นในเขตภาคใต้ทำให้เกษตรกรกรีดยางพาราไม่ได้ รวมไปถึงผลผลิตสับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตสุกรที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะไก่เนื้อ และไข่ไก่จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.6 ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากไม่มีมาตรการแทรกแซงด้านราคา ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง รวมทั้งราคาไก่เนื้อ และไข่ไก่ลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของ ปีก่อน อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.1 แต่ขยายตัวชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 86.0 ซึ่งอยู่ในระดับทรงตัวกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.1 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการซบเซาของภาวะเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่มีแนวโน้มในการขยายการลงทุน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลง คาดว่าจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 57 ที่ยังคงหดตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ -3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่ยังคงลดลง และตลาดของสินค้าบางประเภทไม่มีการสั่งซื้อเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาลของสินค้านั้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค. 57 เพิ่มขึ้น 214,000 ตำแหน่ง ผลจากการจ้างงานในภาคบริการร้านอาหาร ค้าปลีก และบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยแม้ว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน ต.ค. 57 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 62.8 ของคนวัยแรงงาน แต่ด้วยอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน รายได้เฉลี่ย ภาคเอกชน เดือน ต.ค. 57 ทรงตัวอยู่ที่ 845.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ จากรายได้ภาคบริการทางธุรกิจและบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ภาคการผลิตสินค้าลดลง

China: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ขยายตัว ร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีการชะลอลงอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซีเมนต์ เหล็ก และแก้ว เป็นต้น

Japan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 57 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ที่ระดับ 38.7 จุด จากระดับ 40.2 จุดในเดือนก่อนหน้า สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อเนื่องของชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าในทุกหมวดที่ปรับเพิ่มขึ้น

Eurozone: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยในหมวดสินค้าทุนและพลังงานมียอดการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ในหมวดสินค้าคงทนมียอดการผลิตลดลง

Singapore: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายสินค้าในหมวดอัญมณีเครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดขายอะไหล่และอุปกรณ์ อาหารเครื่องดื่ม เชื้อเพลิง และโทรคมนาคมที่ขยายตัวเร่งขึ้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี

India: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากผลผลิตในภาคการผลิตและสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 2.5 และ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Malaysia: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อน ผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ขณะที่ การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวจากเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ

Philippines: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 42.2 ของ การส่งออกรวม) เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องจักรด้านคมนาคมและการผลิตที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยหากพิจารณามิติคู่ค้าพบว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นและสิงคโปร์ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 52.6 และร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ย. 57 ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ คือในเดือน ส.ค. 57 และในเดือน ต.ค. 57 เพื่อส่งเสริมการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อแก่ครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้นในเดือน ต.ค. 57 อีกทั้งเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้สินค้าส่งออกเกาหลีใต้มีความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาลดลง

UK: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็น การหดตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -20.8 โดยการส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรปยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นมาก ในช่วงเวลาดังกล่าว มูลค่านำเข้า เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 จากการนำเข้าจากประเทศ ในสหภาพยุโรปที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 13 พ.ย. 57 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,577.21 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 54,008 ล้านบาท โดยมีปัจจัยความผันผวนจากดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ และภูมิภาค จากความกังวลของนักลงทุนว่าอาจมีมาตรการชะลอความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไร ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10 - 13 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,212.76 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไปที่ปรับลดลง 1 - 10 bps ในทิศทางเดียวกับ US Treasury โดยการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 1 ปี และพันธบัตรรัฐบาลประเภท Inflation-linked อายุ 15 ปี ในช่วงดังกล่าวได้รับความสนใจค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10 - 13 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,108.6 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 13 พ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.04 จากสัปดาห์ก่อน โดยเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข้งค่า ภายหลังสถานการณ์ในยูเครนตึงเครียด ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับลดลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 13 พ.ย. 57 ปิดที่ 1,161.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,197.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ