รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 21, 2014 13:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. BOI เผยยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในช่วง 10 เดือนลดลง

2. ยอดส่งออกญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.9

3. อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกง เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2

1. BOI เผยยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในช่วง 10 เดือนลดลง
  • นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 (ม.ค. - ต.ค. 57) ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติลดลงร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าภาพรวมการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมตลอดปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมียอดที่ 7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากคือ รถยนต์และอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วน โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งเงินทุนในสัดส่วนที่สูงสุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ที่ชะลอลงนี้ สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 57 ที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวร้อยละ -0.6 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนในปี 58 จะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเริ่มเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น (Crowding-in Effect) อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนของนักลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเม็ดเงิน FDI ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 57)
2. ยอดส่งออกญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.9
  • ยอดการส่งออกญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา จากการส่งออกไปยังเอเชียและสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวขาดดุลลดลงที่ -7.1 แสนล้านเยน (6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดส่งออกญี่ปุ่นที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผลจากเงินเยนที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ช่วยเอื้อต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกญี่ปุ่น กอปรกับอุปสงค์นอกประเทศโดยเฉพาะเอเชียและสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้านั้นๆ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีถึงร้อยละ 8.9 จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เนื่องจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 15.9 ของ GDP ในปี 56 อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งออกสุทธิ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเมือง จากการที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ประกาศจะยุบสภาในวันศุกร์ที่ 21 พ.ย. 57 ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้
3. อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกง เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกงเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วง เดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงจากร้อยละ 6.6 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกง เดือน ต.ค. 57 ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วง เดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัยยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ ร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดอื่นยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก เช่น ราคาสินค้าหมวดอาหารขยายตัวร้อยละ 4.2 ราคาสินค้าหมวดการคมนาคมขนส่งขยายตัวร้อยละ 2.0 เป็นต้น ดังนั้น ความเสี่ยงของเศรษฐกิจฮ่องกงจากอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไปนอกเหนือจากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัยยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงเร่งขึ้นต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมีจะมีสภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ