รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 9, 2014 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2557

Summary:

1. ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาน้ำมันไม่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

2. ศุภวุฒิ คาดจีดีพีปีนี้โตไม่ถึงร้อยละ 1.0

3. GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3/57 หดตัวร้อยละ -1.3

1. ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาน้ำมันไม่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของแอลจีเรียเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งได้ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบสี่ปีเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านั้น แชร์กุย เดอมัว กล่าวกับผู้สื่อข่าวในระหว่างการประชุมน้ำมันและก๊าซประจำแอฟริกาเหนือในกรุงอัลเจียร์ส ว่า "เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าราคาน้ำมันปัจจุบันที่อยู่ในระดับราว 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านั้น" ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ได้ระบุถึงเหตุผลที่อาจหนุนราคาน้ำมัน โดยคาดว่าความต้องการน้ำมัน ทั่วโลกนั้นจะปรับตัวลดลงหลังช่วง 6-8 เดือน ไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นอกจากนี้ เขายังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะดีดตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สะท้อนราคาน้ำมันที่ขายในประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 5 ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 67.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หลังจากที่ปรับตัวสูงเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อกลางปีที่ผ่านมาจากปัญหาความไม่สงบในซีเรีย และลิเบีย ทั้งนี้ สศค. ได้ติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างใกล้ชิด และมีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปี 57 ไว้ที่ 101 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57) ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 99.25 ดอลลลาร์สหัรฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้การที่โอเปคมีมติไม่ปรับลดเพดานการผลิตน้ำมันลง โดยยังคงการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น อาจจะไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้ ในส่วนของความต้องการน้ำมันนั้น ก็ไม่ได้มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันหลักอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือจีน ยังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ สศค. จะทำการประมาณการเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบอีกครั้งในเดือน ม.ค. 58
2. ศุภวุฒิ คาดจีดีพีปีนี้โตไม่ถึงร้อยละ 1.0
  • นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสำนักงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจปี 58" จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 2.0 ทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1.0 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจากตัวเลข GDP ล่าสุดในไตรมาส 3/57 พบว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาก่อนที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -7.0 จากการลงทุนเพิ่มในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน (เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ระดับ 64.5) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 - 1.7 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6) คาดการณ์ ณ ต.ค. 57
3. GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3/57 หดตัวร้อยละ -1.3
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ปี 57 หดตัวลงร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีการหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.9 (%qoq_sa) จากการที่เศรษฐกิจที่มีการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เป็นผลให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะการถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการหดตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 3/57 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องภายหลังการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 อย่างไรก็ดี การประกาศยุบสภาของนายอาเบะเนื่องจากปัญหาการถดถอยเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลการเลือกตั้งใหม่ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 57 อาจส่งผลต่อแผนการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบที่ 2 นอกจากนี้ สถานการณ์ในไตรมาสที่ 4 ปี 57 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงไม่ฟื้นตัว สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 57 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุด ในรอบ 5 เดือน อยู่ที่ระดับ 38.7 จุด สะท้อนมุมมองเชิงลบต่อเนื่องของชาวญี่ปุ่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด แม้ว่าจะยังมีปัจจัยบวกด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 ซึ่งปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 57 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ