รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 16, 2015 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มกราคม 2558

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.0

2. ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี

3.ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ขยายตัวชะลอลงในเดือน ธ.ค. 57 ที่ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.0
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายมูลค่าการส่งออกปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.0 โดยจะใช้ยุทธศาสตร์การทำตลาดเชิงรุก โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขยายตัวที่ชัดเจน และแบ่งตลาดส่งออกออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย ดังนี้ 1) ตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ตั้งเป้าอัตราการขยายตัวของการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 1.9 2) ตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจปานกลาง ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซีย ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 6.0 3) ตลาดที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจน้อย ได้แก่ แอฟริกา เอเชียใต้ และ 4) ตลาดอาเซียน ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 5.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของประเทศไทยในปีนี้จะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นกับเพียงเฉพาะบางประเทศ โดยมีเพียงสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 2 สัดส่วนร้อยละ 10.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เท่านั้นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในภาวะถดถอยทางเทคนิค (ตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 9.7) ยูโรโซนซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำมาก (ตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 4 สัดส่วนร้อยละ 6.9) และจีน (ตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 1 สัดส่วนร้อยละ 11.9) ซึ่งแม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนจะยังคงถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกในปัจจุบัน แต่นับว่าชะลอตัวลงมากจากทศวรรษก่อนหน้า เนื่องจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศส่งผลกระทบในทางลบต่อการขยายตัวในระยะสั้น ดังนั้น ยุทธศาตร์การผลักดันการส่งออกของไทย โดยการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขยายตัวที่ชัดเจน เช่น ตลาดในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกลุ่ม CLMV จึงเป็นช่องทางสำคัญที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนให้การส่งออกของไทยในปีนี้สามารถขยายตัวได้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
2. ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 58 ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี โดยลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นผลจาก 1) อัตราเงินเฟ้อของอินเดียปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจาก 109.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อกลางปี 57 ลงมาอยู่ที่ 42.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 15 ม.ค. 58 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 58 ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อันจะเป็นผลดีต่อธนาคารกลางอินเดียที่สามารถลดอัตราดอกกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศได้ โดยไม่ต้องกังวลต่อการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในประเทศมากนัก อีกทั้ง 2) การลดอัตราดอกเบี้นโยบาย นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนแล้ว ยังเป็นการลดภาระทางการคลังด้านการกู้ยืมจากในประเทศได้เช่นกัน กล่าวคือ รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง
3.ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ขยายตัวชะลอลงในเดือน ธ.ค. 57 ที่ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายสินค้าในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นหมวดห้างสรรพสินค้า เครื่องจักร เครื่องประดับและอัญมณีที่ยังคงขยายตัวได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่อง ล่าสุด GDP เบื้องต้นในไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 57 ที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศในระดับสูงถึงร้อยละ 362.1 ของ GDP (สัดส่วนปี 56) รายได้จากต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่องส่งผลให้ทิศทางการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศเริ่มชะลอลงตาม สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจสิงคโปร์อีกครั้งในช่วงปลายเดือน ม.ค. 58 นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ