รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 26, 2015 11:50 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เดือน ธ.ค. 57 ได้ทั้งสิ้น 170.4 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนธ.ค. 57 มีมูลค่า 55.94 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.9
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนธ.ค.57 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 12.0
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ธ.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.84 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.8
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 36,738 คัน หรือ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -28.0 ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์อยู่ที่ 52,766 คัน หรือหดตัวร้อยละ -16.1
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -4.8 ในขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.5
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 92.7
  • GDP จีน ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3
  • GDP เกาหลีใต้ (ตัวเลขเบื้องต้น) ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัว ร้อยละ 2.7
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.8
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.7

Indicator next week

Indicators         Forecast    Previous
Dec: MPI (%yoy)      -2.7        -3.5
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อช่วงเทศกาลปีใหม่ และยอดขายรถที่เพิ่มขึ้นจากการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป 2014 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก เดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เดือน ธ.ค. 57 ได้ทั้งสิ้น 170.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.6 จากปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -5.1 จากปีก่อน (2) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -10.9 จากปีก่อน โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปีก่อน ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -17.2 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงไตมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 58 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)507.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ 1.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนธ.ค. 57 มีมูลค่า 55.94 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.5 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.5 สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ ในปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 จากปี 56
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนธ.ค.57 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวครั้งที่สองของปี 57 หลังจากที่มีการขยายตัวไปเมื่อเดือน ก.ย. 57 ที่ร้อยละ 16.1 ต่อปี ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี 57 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -2.8 เนื่องจากการชะลอตัวในตลาดอาคารชุด
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือนธ.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.84 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียที่มีสัดส่วนสูงสุดขยายตัว ได้ดี อยู่ที่ร้อยละ 66.4 และ 33.2 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลทำให้ ปี 57 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 24.78 ล้านคน หดตัว ร้อยละ -6.6 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 92.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.7 เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั้น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป 2014 ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งอีกด้วย
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ 36,738 คัน หรือ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -28.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -27.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ในปี 57 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวที่ร้อยละ -41.4 จากปี 56
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธ.ค. 57 อยู่ที่ 52,766 คัน หรือหดตัวร้อยละ -16.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 57 ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -26.8 สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันของปี 57 ที่หดตัวร้อยละ -28
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะยางพาราและมันสำปะหลังเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ตามการขยายตัวของผลผลิตไก่เนื้อและไข่ไก่เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้ากษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 จากปี 56
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.3 ตามราคายางพาราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการของโลกที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับราคาผลผลิต ในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลงจาก เดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ตามราคาไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสุกรที่ราคาหดตัว เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของโลกมีมากขึ้น ขณะที่สับปะรดโรงงานมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ทั้งนี้ ในปี 57 ดัชนีราคาสินค้ากษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวร้อยละ -6.2 จากปี 56
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีขึ้นจาก เดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อช่วงเทศกาลปีใหม่ และยอดขายรถที่เพิ่มขึ้นจากการจัดงานมอเตอร์เอ็กโป 2014 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้ สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 57 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบมากกว่า 5 ปีจากต้นทุนค่าคมนาคมขนส่งและเสื้อผ้าที่ถูกลงมาก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี อย่างไรก็ตามผลผลิตยานยนต์และเครื่องมือเครื่องจักรยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการกลับมาขยายตัวของยอดสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่กลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.2 และร้อยละ 120 ตามลำดับ ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยใบอนุญาตสร้างบ้านเดี่ยวกลับมาขยายตัว ขณะที่ใบอนุญาตสร้างทาวน์เฮ้าส์ยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง

China: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในปีก่อน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี จากการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 57 กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 4 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน การลงทุนในสินทรัพย์คงทน ทั้งปี 57 ขยายตัวร้อยละ 15.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 15.8 ในเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด โดยอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ชะลอลง

Japan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขปรับปรุง) เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่ลดลงต่อเนือง เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และโลหะ เป็นต้นส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 57 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 38.3 จุด สะท้อนมุมมองชาวญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีฯ อยู่เกินกว่าระดับ 50 จุด เป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน

Eurozone: improving economic trend

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 58 ธนาคารกลางยุโรปประกาศขยายขนาดมาตรการ QE โดยจะเข้าซื้อทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชน จำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ มี.ค. 58 - ก.ย. 59 นอกจากนี้ ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.05 ต่อปี และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว (TLTRO) ให้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 (ตัวเลขสมบูรณ์) อยู่ที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากราคาพลังงานเป็นหลัก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี

South Korea: mixed signal

GDP (ตัวเลขเบื้องต้น) ไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการส่งออกที่ชะลอลง ส่งผลให้ทั้งปี 57 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 122,100 คน อัตราการเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหาร สาธารณูปโภค และค่าขนส่ง ที่ปรับตัวลดลง

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 57 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนืองส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง

UK: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยลดลงต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักร และเมื่อวันที่ 7 และ 8 ม.ค. 58 ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 22 ม.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,560.34 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อวันที่ 48,135.69 ล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ จากการที่ ECB ส่งสัญญาณการขยายขนาดวงเงินและประเภทสินทรัพย์ในการทำมาตรการ QE ในการประชุมวันที่ 22 ม.ค. 58 (เวลาท้องถิ่น) ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 383.13 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 6 เดือนขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1-20 bps โดยปรับเพิ่มขึ้นมากที่ช่วงอายุ 10 ปี จากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศ อันเป็นผลจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาล Benckmark อายุ 10 ปี ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพียง 0.89 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 ม.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,043.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 22 ม.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.52 จากสัปดาห์ก่อน โดยเคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินสกุลภูมิภาคทั้งหมดที่อ่อนค่า ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ จึงส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมากถึงร้อยละ 1.42 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำสูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 22 ม.ค. 58 ปิดที่ 1,291.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,274.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ