รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2015 11:18 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.5
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.พ.58 อยู่ที่ระดับ 68.4
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.พ. 58 มีจำนวน 162,317 คัน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.7
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,658.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 58 มียอดคงค้าง 15.34 ล้านล้านบาท ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.3
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 58 มียอดคงค้าง 16.48 ล้านล้านบาท ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.9
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 58 เกินดุล 2,506.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 ในขณะที่ อัตราว่างงาน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 ต่อกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators                Forecast   Previous
Feb: cement sale (%yoy)     -3.2       -5.8
  • เนื่องจากภาคเอกชนยังคงรอดูท่าทีความชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ ทำให้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 หดตัวจากการลดลงของราคาสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.12 จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาค่าโดยสาร รถร่วมประจำทาง และราคาอาหารสำเร็จรูป เป็นปัจจัยหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ในเดือน ก.พ. 58 ที่หดตัวร้อยละ -11.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลง
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.พ.58 อยู่ที่ระดับ 68.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ปัจจัยลบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและตลาดโลก รวมทั้งการทรงตัวอยู่ในระดับต่ำของราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลให้กำลังซื้อยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.พ. 58 มีจำนวน 162,317 คัน หรือคิดเป็นการขยายตัว ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.0 หลังขจัดผลตามฤดูกาล เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 11.9 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.2 เป็นผลมาจากรายได้ที่เกษตรกรขายได้ที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ และราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวชะลอลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ หดตัวร้อยละ -25.8 จากปัจจัยฐานในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการเร่งบริโภคหลังจากเหตุการณ์การปิดกรุงเทพฯ คลี่คลายลง
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,658.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 34.1 พันล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 42.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 97.7 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 93.8 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 58 มียอดคงค้าง 15.34 ล้านล้านบาท ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยชะลอลงทั้งสินเชื่อ ในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สินเชื่อขยายตัวค่อนข้างทรงตัวในระดับต่ำ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 58 มียอดคงค้าง 16.48 ล้านล้านบาท ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 โดยการขยายตัวมาจากทั้งการขยายตัวของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเตรียมสภาพคล่องรองรับสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 58 เกินดุล 2,506.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุลสูงถึง 5,522.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,392.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการส่งออกที่กลับมาหดตัว จากอุปสงค์จากจีน อาเซียน และยุโรป ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับการนำเข้าที่หดตัวสูง จากการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวตามราคาในตลาดโลก ที่ตกต่ำ ขณะที่สินค้านำเข้าหมวดที่ไม่ใช่เชื้อเพลิง ยังมีแนวโน้มชะลอตัว ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 1,114.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงขณะที่รายจ่ายค่าระวางสินค้าบริการทางธุรกิจอื่นๆ และการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคเอกชนยังคงรอดูท่าทีความชัดเจนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ ทำให้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงชะลอตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ลดลงจากการประกาศครั้งก่อน ส่งผลให้ทั้ปี 57 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากดัชนีการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 56.9 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากดัชนีคำสั่งซื้อค้างรับ การจ้างงาน และราคาที่ปรับตัวดีขึ้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายทั้งรถยนต์นั่งและรถบรรทุกที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ -0.6 อัตราว่างงาน เดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเยอรมนีมีอัตราว่างงานต่ำที่สุดที่ร้อยละ 4.7 ขณะที่กรีซและสเปนยังคงมีอัตราว่างงานสูงเกินกว่าร้อยละ 20 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 53.3 จุด เร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.0 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แม้จะเริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 53.7 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลของฤดูกาล)ผลจากการขยายตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงรถยนต์และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 58 ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.05 ต่อปี และประกาศรายละเอียดโครงการซื้อสินทรัพย์ภาครัฐ (Public Sector Purchase Programme)โดยจะเริ่มซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก และพันธบัตรที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ หรือองค์กรเหนือรัฐ ที่ตั้งอยู่ในยูโรโซน ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 58 ในวงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด สูงสุดในรอบ 7 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 49.7 จุดในเดือนก่อน เป็นสัญญาณบวกของภาคอุตสาหกรรมจีนหลังทางการจีนเริ่มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (HSBC/Markit) อยู่ที่ระดับ 52.0 จุด เพิ่มขึ้นจาก 51.8 จุดในเดือนก่อน

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.2 จุดในเดือนก่อน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ขยายตัวได้ดีจากอานิสงส์ภาคการส่งออก

United Kingdom: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 54.1 จุด สูงสุดในรอบ 7 เดือน ผลจากยอดสั่งซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่อุปสงค์จากต่างประเทศยังคงซบเซาสำหรับดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 56.7 จุด โดยธุรกิจภาคบริการขยายตัวต่อเนื่องกว่า 2 ปี

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด และต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง 3 เดือน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ชะลอตัว

Hong Kong: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี และเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 จุดในเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -4.0 ในเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยฐานสูงผิดปกติในช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเป็นเทศกาลตรุษจีน

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด เพิ่มขึ้นจาก 51.7 จุดในเดือนก่อน

South Korea: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่ำที่สุดในรอบ 16 ปี จากราคาสินค้าทุกหมวดย่อยที่ขยายตัวชะลอลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 51.1 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Australia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่หดตัว อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน) ส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.7 ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายอาหารที่ชะลอลง มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากที่สุดมในรอบ 2 ปี จากสินแร่และถ่านหินที่ยังคงหดตัว มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -1.3 จากสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องจักรที่หดตัว ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงมาก สะท้อนการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาอาหารและค่าคมนาคมขนส่งที่ลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 120.2 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อน จากผู้บริโภคประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ดีขึ้น ขณะที่ประเมินสถานการณ์ในอนาคตลดลง

India: mixed signal

เมื่อ 4 มี.ค. 58 ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงานที่ปรับลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 53.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนมากระหว่างวันและปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 5 มี.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,533.33 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายรายสัปดาห์เฉลี่ยต่อวันสูงถึง 62,972.82 ล้านบาท จากการขายของ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ หลังจากบริษัทจดทะเบียนเริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินงานในปี 57 ซึ่งส่วนใหญ่มีกำไรต่ำกว่าที่คาด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,873.2 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลงเล็กน้อย 1-4 bps และมีความผันผวนระหว่างสัปดาห์สูง จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ภายหลังคาดการณ์ว่า ECB จะประกาศแนวนโยบายที่ชัดเจนในการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนนี้ อีกทั้งนักลงทุนคาดว่า ที่ประชุม กนง. ในวันที่ 11 มี.ค. 58 นี้ อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายหลังตัวเลขเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจออกมาไม่ดีนัก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,931.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 5 มี.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.36 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางของค่าเงินส่วนใหญ่ยกเว้นเงินวอนเกาหลีที่ทรงงตัว จากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมาก ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 5 มี.ค. 58 ปิดที่ 1,198.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,206.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ