รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 16, 2015 11:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มีนาคม 2558

Summary:

1. ทูตพาณิชย์ยืนเป้าส่งออกรายตลาด

2. ธนาคารกลางรัสเซียหั่นดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 พร้อมส่งสัญญาณลดอีก

3. ยอดแท่นขุดน้ำมันร่วงไม่หยุด 14 สัปดาห์ติดต่อกัน

1. ทูตพาณิชย์ยืนเป้าส่งออกรายตลาด
  • ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในแต่ละภูมิภาคอยู่ระหว่างหารือแผนส่งเสริมการส่งออกทั้งหมด เพื่อนำเสนอแก่ รมว.พาณิชย์ รับทราบ เพื่อกำหนดเป้าหมายรวมของปีนี้อีกครั้ง หลังจากเดิมที่ตั้งเป้าจะขยายตัวร้อยละ 4 ทางด้านผู้อำนวยการฯ ประจำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ทำให้การนำเข้ามากขึ้น โดยยังตั้งเป้าหมายการส่งออกไปสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ3 จากปีก่อน ขณะที่ผู้อำนวยการฯ ประจำญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไปยังเอเชีย ภาพรวมยังไปได้ดี คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ4.5 เนื่องจากการส่งออกไปจีนยังค่อนข้างดี แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว ส่วนทางด้านผู้อำนวยการฯ ประจำเกาหลีใต้ คาดว่าการส่งออกไปเกาหลีใต้จะขยายตัวได้ร้อยละ 5 จากปีก่อนที่ติดลบร้อยละ 0.5 เนื่องจากปีนี้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลไปยังเกาหลีได้มากขึ้นรวมทั้งปีนี้เกาหลียอมเปิดตลาดนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยได้ โดยอาหารสำเร็จรูป เช่น ไก่ปรุงสุก และผลไม้สด ถือว่ามีศักยภาพในการส่งออกมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์การส่งออกล่าสุด การส่งออกสินค้าในช่วงเดือนแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -3.5 จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยหดตัวถึงร้อยละ -17.9 และ -28.1 ตามลำดับ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากมองภาพรวมแนวโน้มการส่งออกในปีนี้ จะพบว่าการส่งออกอาจจะขยายตัวได้เล็กน้อย จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะมีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ นอกจากนี้ ปัญหาการลดลงของราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพารา จะส่งผลต่อการลดลงของมูลค่าการส่งออกของไทยด้านสินค้าเกษตร นอกจากนี้ แนวโน้มราคาน้ำมันที่จะคงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน จะส่งผลให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ สศค. คาดว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ประมาณการ ณ เดือนม.ค.)
2. ธนาคารกลางรัสเซียหั่นดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 พร้อมส่งสัญญาณลดอีก
  • ธนาคารกลางรัสเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ1 สู่ระดับร้อยละ14 เพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางระบุว่า ธนาคารพร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อบรรเทาลง โดยการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปของธนาคารกลางรัสเซียมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จาก ม.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 58 อยูที่ร้อยละ 16.7 ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ธนาคารกลางรัสเซียตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาเสถียรภาพและความเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซียที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในเดือน มี.ค. 59 และร้อยละ 4 ในปี 60 ถือเป็นปัจจัยที่ท้าทายพอสมควร เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรทางการค้ารัสเซียจากกรณีความขัดแย้งกับยูเครน ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซีย รวมไปถึงกลุ่มยูโรโซนอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวไปอีกระยะเวลาหนึ่ง
3. ยอดแท่นขุดน้ำมันร่วงไม่หยุด 14 สัปดาห์ติดต่อกัน
  • เบเคอร์ฮิวจส์ เปิดเผยข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ายังคงปรับลดลงอีกจำนวน 56 แท่น ทำให้จำนวนยอดรวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 866 แท่น นับเป็นการลดลงสัปดาห์ที่ 14 ติดต่อกัน คิดเป็นการลดลงทั้งสิ้นร้อยละ 46 จากจำนวนทั้งหมดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้จำนวนแท่นขุดเจาะซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดด้านอุปทานที่ตลาดจับตามองเป็นพิเศษจะลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จำนวนแท่นจะมีแนวโน้มการลดลงในลักษณะนี้ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. จึงจะเข้าสู่เสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าส่งมอบเดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9 จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 44.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการลดลงในรอบสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 58 สาเหตุมาจากกำลังการผลิตที่ยังคงมีสูงทำให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องมากกว่าที่อุปสงค์ของโลกในปัจจุบันจะรองรับ ด้วยเหตุนี้ การติดตามตัวชี้วัดจำนวนแท่นขุดเจาะจึงอาจไม่สามารถบ่งชี้ภาพของราคาได้ดีนักเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาทดแทนในอัตราที่สูงเช่นกัน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ