รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 16, 2015 11:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 58 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • วันที่ 11 มี.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ยูโรโซน ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง)ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีก สหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าส่งออกของจีน เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 48.3 มูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จุด

Indicator next week

Indicators Forecast Previous
Feb: API(%yoy)    -5.7       1.2
  • จากการหดตัวของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก และยางพารา เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ ส่วน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน รวมทั้งหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวได้
Economic Indicators: This Week
  • การจ้างงานเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.0 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของ การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาคบริการจากสาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ อัตรา การว่างงานในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.16 แสนคน
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.60 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ โดยสินทรัพย์สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของหลักทรัพย์ซึ่งปราศจากภาระผูกพันและการสำรองเงินสดที่ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 3.6 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 58 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.4 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.8 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงทรงตัว
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -6.4 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • วันที่ 11 มี.ค. 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะ
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากการหดตัวของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก และยางพารา เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ ส่วน มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน รวมทั้งหมวดปศุสัตว์คาดว่าจะขยายตัวได้

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหรือหดตัวร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากพายุหิมะรุนแรงที่กระทบการใช้จ่าย การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.พ. 58 เพิ่มขึ้น 295,000 ตำแหน่ง จากภาคอาหารและเครื่องดื่ม บริการธุรกิจ ก่อสร้าง และบริการสุขภาพที่ปรับเพื่มขึ้น ทำให้อัตราว่างงาน ลดลงมาที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี มูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -3.0 ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากสินค้าทุกประเภทที่ชะลอตัว ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 48.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 4 ปีส่วนหนึ่งเป็นผลจากธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัทในจีนที่เร่ง การส่งออกก่อนช่วงหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดพบว่าเป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและยุโรปที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นหลัก มูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุล 60.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน และยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 12.0 ในเดือนก่อนหน้า

Japan: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวเป็นหลักอย่างไรก็ตาม เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -0.03 หดตัวเร่งขึ้นจากการประกาศครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.04 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 40.4 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของครัวเรือน

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาส 4 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เท่ากับตัวเลขเบื้องต้นจากการขยายตัวในภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงขยายตัว ไม่มากนักส่งผลให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในทุกหมวดการผลิต อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้าจากการหดตัวของการผลิตในหมวดสินค้าคงทนและสินค้าขั้นกลาง

Malaysia: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นหลัก ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -5.3 จากการนำเข้าเชื้อเพลิงและอาหารที่หดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9.0 พันล้านริงกิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อน จากจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้านันทนาการที่ปรับตัวดีขึ้น

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากส่งออกไปญี่ปุ่นที่หดตัวร้อยละ -23.2 เป็นหลัก

Singapore: improving economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาส 4 ปี 57 ปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม จากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อน

Taiwan: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลจากราคาพลังงานที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -22.4 โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่ลดลงเป็นผลจากการค้าที่ลดลงในช่วงตรุษจีน ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 4.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าขั้นกลางอย่างไรก็ตาม หดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)จากการหดตัวของหมวดสินค้าคงทนและสินค้าทุน มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -3.1 ส่งผลให้ดุลการค้า ขาดดุล 9.98 พันล้านปอนด์

India: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเหมืองแร่ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว

South Korea: mixed signal

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 58 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ 12 มี.ค. 58 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,544.34 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 45,799 ล้านบาท จากข่าวลือว่า Fed จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใน มิ.ย. 58 นี้ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และขัดแย้งกับถ้อยแถลงของประธาน Fed ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกจากที่ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ในวันที่ 11 มี.ค. 58 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 952.4 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุน้อยกว่า 5 ปี ปรับลดลง 1-19 bps ขณะที่พันธบัตรฯ ช่วงอายุมากกว่า 5 ปีปรับเพิ่มขึ้น 1-3 bps จากแรงขายพันธบัตรระยะยาวเพื่อทำกำไรภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย บวกกับความกังวลเรื่อง Fed ดังกล่าว ขณะที่มีแรงซื้อพันธบัตรระยะสั้นจากมติ กนง. ข้างต้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิสูงถึง 15,568.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยวันที่ 12 มี.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 1.23 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ยกเว้นหยวน ส่วนหนึ่งจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมาก และมติ กนง. ดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.53 จากสัปดาห์ก่อน

ราคาทองคำปรับลดลงจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 12 มี.ค. 58 ปิดที่ 1,156.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,171.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ