รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2015 12:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์ชี้ค่าเงินแข็งไป ฉุดส่งออก เล็งปรับแผนผลักดัน

2. ศุภาลัยมองอสังหาปีนี้โตร้อยละ 10

3. น้ำมันซาอุฯ ทะลักกดราคาน้ำมัน

1. พาณิชย์ชี้ค่าเงินแข็งไป ฉุดส่งออก เล็งปรับแผนผลักดัน
  • รมว.พาณิชย์ กล่าวยอมรับว่าการส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า มีเพียงสหรัฐและอาเซียนที่ยังขยายตัวได้ดี อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโร ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปลดลง แต่หากมองในส่วนปริมาณจะพบว่าการส่งออกไม่ได้ลดลง พร้อมยอมรับว่าอาจต้องทบทวนตัวเลขการส่งออกอีกครั้ง แต่ต้องติดตามสถานการณ์การส่งออกอีกระยะหนึ่ง รวมถึงต้องหารือเพิ่มถึงมาตรการกระตุ้นการส่งออกให้มากขึ้น และต้องจัดคณะเดินทางไปเจรจาขยายตลาดให้มากขึ้นด้วย ส่วนตัวเลข 4% นั้นยืนยันว่าเป็นตัวเลขการทำงานที่เราอยากผลักดันให้ถึง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.4 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 58) จากปีก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 โดยมีสาเหตุหลักจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะมีเพียงเศรษฐกิจสหรัฐ และกลุ่มอินโดจีน (CLMV) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยลดลง โดยเฉพาะการลดลงของราคายางพารา รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
2. ศุภาลัยมองอสังหาปีนี้โตร้อยละ 10
  • นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 58 บริษัทมองว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีการเติบโต โดยแบ่งเป็นกลุ่มโครงการแนวราบจะเติบโตในทำเลต่างจังหวัดเป็นหลัก โดยเฉพาะหัวเมืองท่องเที่ยวตามภูมิภาคต่างๆ ขณะที่กลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม จะมีการเติบโตในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 57 ทีผ่านมา ขยายตัวได้ร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และผู้ประกอบการในการขยายกิจการแต่หลังจากที่ปัญหาการเมืองดังกล่าวได้คลี่คลายลงก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรพย์ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 57 ทั้งนี้ ในปี 58 คาดว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 57 เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ กอปรกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคฟื้นตัว รวมทั้งความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า ที่เป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง เป็นต้น
3. น้ำมันซาอุฯ ทะลักกดราคาน้ำมัน
  • นายอาลี อัล ไนมี รัฐมนตรีพลังงานประเทศซาอุดิอาระเบีย เปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. ของประเทศอยู่ที่ระดับราว 9.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยผลิตมา ทำให้ทิศทางอุปทานล้นเกินของราคาน้ำมันดิบโลกยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบสัญญาส่งมอบล่วงหน้าเดือน พ.ค. ของเวสท์เท็กซัส ปรับลดลง 51 เซนต์ปิดที่ระดับ 46.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบสัญญาส่งมอบล่วงหน้าเดือน พ.ค. ของเบรนท์ปรับลดลง 52 เซนต์ปิดที่ระดับ 54.80เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
          - สศค. วิเคราะห์ว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 58 ทิศทางการผลิตของผู้เล่นรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มโอเปค สหรัฐฯ รัสเซีย ยังคงมีแนวโน้มที่จะผลิตน้ำมันออกมาจำนวนมากโดยทั้ง 3 ราย  มีกำลังการผลิตในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของตนเองในช่วงที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันถูกกดดันในช่วงต้นปี ขณะที่ อุปสงค์ของโลกยังมีความอ่อนแอ โดยนายอัลไนมีเองได้ออกมาคาดการณ์ว่าการที่ราคาน้ำมันจะกลับสู่ระดับ 100.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเช่นในอดีตเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้น ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบตั้งแต่ต้นปีมีการเริ่มต้นในระดับต่ำแต่มีทิศทางการเคลื่อนไหวโดยรวมในลักษณะขาขึ้น โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 42.0-59.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 58 จะอยู่ที่ระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยจะมีลักษณะขาขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งปีจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่จะค่อยๆสูงขึ้น ขณะที่ อุปสงค์           มีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ