รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เดือน ก.พ. 58 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปีก่อน ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณรวม หดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 58 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -8.5 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. หดตัวต่อที่ร้อยละ -12.5 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในหดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี
  • การส่งออกในเดือน ก.พ. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.2 ขณะที่การนำเข้าในขยายตัวที่ร้อยละ 1.5
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -2.1 ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรอสังหาริมทรัพย์รวม ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 88.9
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน เดือน มี.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -3.7 จุด
  • อัตราการว่างงานของญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงานรวม

Indicator next week

Indicators            Forecast   Previous
Feb: MPI                 2.4       -0.8
  • การบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มการลงทุน นอกจากนี้การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้มีการผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เดือน ก.พ. 58 ได้ทั้งสิ้น 149.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14.4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 8.7 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.7 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าลดลงร้อยละ -8.9 จากปีก่อน สะท้อนการนำเข้าที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ -0.8 จากปีก่อน โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลง ร้อยละ -2.1 จากปีก่อน ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค. 57 - ก.พ. 58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ทั้งสิ้น 816.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร 12.2 พันล้านบาทหรือร้อยละ 1.5
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนก.พ. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 150.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปีพบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 131.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 109.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -22.7 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 21.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 6.4 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 4.9 พันล้านบาท และรายจ่ายอื่นของธ.ก.ส. 4.2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 19.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ในช่วง 5 เดือนแรกปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ 1,095.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 42.6 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 58 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -8.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 24.8 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 16.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน -411.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 99.3 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.พ. 58 มีจำนวน 183.1 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 25,425 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายในช่วงก่อนหน้า จากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในปี 56 ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 38,524 คัน หรือหดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -0.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในเดือนก.พ.58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -12.6 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน
  • การส่งออกในเดือน ก.พ. 58 มีมูลค่า 17,229.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.5 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -17.5 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.9 ตามการหดตัวของยางพารา ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เป็นสำคัญ และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -3.7 ตามการหดตัวของยานยนต์ ในขณะที่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.6 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -4.6
  • การนำเข้าในเดือน ก.พ. 58 มีมูลค่า 16,839.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังจากหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 เดือนที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 31.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.6 รวมทั้งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 12.7 และ 3.9 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -36.3 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -10.7 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 13.6 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 58 เกินดุล 0.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ก.พ. 58 มีมูลค่า 52.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.0 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.4 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.1 อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.5
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -3.4 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 11.1 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ระดับ 88.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 91.1 จากความกังวลต่อสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอ การใช้จ่าย คำสั่งซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ โดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคเกษตรจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รวมทั้งการค้าชายแดนยังสามารถขยายตัวได้
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีฐานต่ำ และดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำถือเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มการลงทุน นอกจากนี้การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้มีการผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 2.94 แสนหลัง คิดเป็นอัตรา การขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า โดยผลหลักมาจากยอดขายบ้านเดี่ยวที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 5.8 ส่งผลให้ราคากลางของบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 202,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง เพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 197,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง โดยเป็นผลจากราคาบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ -0.1 จากราคาเครื่องนุ่งห่มและค่าขนส่งที่ติดลบน้อยลง บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -3.7 จุด จากระดับ -6.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นที่มากกว่าตลาดคาด สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.1 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน จากระดับ 53.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 51.9 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน สูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 51.0 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 58 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 54.3 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือน จากระดับ 53.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ภาคอุปทานของยูโรโซนที่เริ่มฟื้นตัว

Japan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ลดลงจากระดับ 51.6 จุดในเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงอยู่เกินกว่าระดับ 50 จุดเป็นเวลา 10 เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง อัตรา การว่างงาน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงานรวมลดลงจากร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อน ส่วนยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องจักรในครัวเรือนที่หดตัวเร่งขึ้น

China: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด กลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดอีกครั้ง โดยลดลงจากระดับ 50.7 จุด ในเดือนก่อน และนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน

United Kingdom: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และนับเป็นอัตราต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มและการคมนาคมขนส่งที่หดตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.9 ในเดือนก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 58 ทรงตัวที่ระดับ 1.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -14.2 จากช่วงเดียวกันก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบกว่า 5 ปี จากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 ขาดดุล 751.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากขาดดุล 669.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน มี.ค. 58 ไว้ที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ยังคงอยู่ในแดนลบต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ผลจากราคาสินค้าหมวดค่าขนส่ง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและราคาบ้านที่ปรับลดต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเมื่อดูในรายละเอียดพบว่า มาจากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่ลดลงต่อเนื่อง อาทิ เครื่องหนัง เครื่องนุ่งห่ม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น Taiwan อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 7.6 ในเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อน และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 7.9 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 58 ขาดดุล 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 2.1 8.4 และ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 1,500 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 26 มี.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,496.41 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เพียง 37,560 ล้านบาท จากแรงการขายของนักลงทุนชาวต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. 58 ที่ออกมาหดตัวร้อยละ -6.1 สร้างความกังวลแก่ นักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิสูงถึง 2,452.0 ล้านบาท ขณะที่อัตราผล 0ตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-8 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ โดยพันธบัตรที่มีการประมูลภายในอาทิตย์นี้ ได้แก่ T-bills พันธบัตร ธปท. 2 รุ่น และพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 10 ปี ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.21 2.74 3.50 และ 2.08 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 26 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,199.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 26 มี.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.64 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปตามทิศทางของค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นหยวนที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระดับน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 26 มี.ค. 58 ปิดที่ 1,203.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,188.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ