รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 15:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 เมษายน 2558

Summary:

1. กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี

2. SCC เชื่อตลาดปูน-วัสดุก่อสร้างในประเทศไตรมาส 2/58 ดีขึ้นจากไตรมาส 1/58

3. กฟผ. ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองทุนแรกของประเทศไทย

1. กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงการประชุมในวันที่ 29 เม.ย.58 ว่าคณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากระดับร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กนง.ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในครั้งนี้ นับเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีนับจากเดือน มี.ค.ปี 58 ที่ปรับลดลง ร้อยละ 0.25 รวมเป็น 0.5 โดยการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นเพิ่มแรงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยจากข้อมูลล่าสุดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 58 เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์จากการส่งออกที่หดตัวและการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ทั้งนี้ จากการปรับลดของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงและ ติดลบตามราคาน้ำมัน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสแรกของปี 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 และ 1.5 ตามลำดับ สะท้อนถึงความต้องการในการลงทุนและการบริโภคอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวจากความเสี่ยงจากการชะลอของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน ในขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในด้านอุปสงค์ของประเทศได้ ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 58 ว่าใน ปี 58 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี
2. SCC เชื่อตลาดปูน-วัสดุก่อสร้างในประเทศไตรมาส 2/58 ดีขึ้นจากไตรมาส 1/58
  • กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) คาดว่าตลาดปูนซีเมนต์และสินค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2/58 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนของภาครัฐที่คืบหน้ามากขึ้น แม้ตลาดจะอ่อนตัวในไตรมาสที่ 1/58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่สะท้อนจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 58 หดตัวร้อยละ -3.7 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 58 หดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มการลงทุนในหมวดก่อสร้างภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 5.0 คาดการณ์ ณ เม.ย.58) ตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ความชัดเจนในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องเร่งตัวขึ้นด้วย
3. กฟผ. ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองทุนแรกของประเทศไทย
  • ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปิดเผยว่าจากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจของไทยที่มีความพร้อมจัดหาแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่เพื่อให้สามารถจัดหาเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ กฟผ.ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศจึงระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน EGATIF
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในอดีตการลงทุนของรัฐวิสาหกิจใช้เงินจากแหล่งต่างๆ ได้แก่ งบประมาณ แผนบริหารหนี้สาธารณะ รายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPPs) อย่างไรก็ดี แหล่งเงินทุนดังกล่าวข้างต้นมีข้อจำกัด เช่น งบประมาณรายจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันรายจ่ายประจำคิดเป็นร้อยละ 78.7 ของงบประมาณรวม รายได้ของรัฐวิสาหกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เนื่องจากการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมาประกอบธุรกิจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นดังนั้น การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ. สามารถลดข้อจำกัดในการหาแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาตลาดทุนเนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนในการสนับสนุนการออมและ การลงทุนของภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอาจจะมีต้นทุนทางการเงิน ที่สูงกว่าการระดมทุนด้วยการกู้ยืมเงิน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงต้องทุนค่าเสียโอกาสในการนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อการให้บริการสาธารณะสำหรับรัฐวิสาหกิจเชิงสังคมที่เพิ่มขึ้น การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในการระดมทุนของภาครัฐในอนาคต

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ