รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 11, 2015 13:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. เอกชนหวังส่งออกไม่ติดลบ

2. ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากอีกร้อยละ 0.25

3. อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐฯ เข้าใกล้จุดวกกลับ

1. เอกชนหวังส่งออกไม่ติดลบ
  • จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 58 จากเดิมร้อยละ 4 เหลือเพียงร้อยละ 1.2 ทำให้มีการปรับเป้าส่งออกรายตลาดใหม่ ดังนี้ 1) กลุ่มที่มีการปรับลดคาดการณ์ใหม่จากเดิมที่ขยายตัวเป็นบวกกลายเป็นติดลบ ประกอบด้วย (1.1) อาเซียน 5 เดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ -0.9 (1.2) จีน เดิมขยายตัวร้อยละ 1.0 เป็นหดตัวร้อยละ -5.0 และ (1.3) ญี่ปุ่น เดิมขยายตัวร้อยละ 2 เป็นหดตัวร้อยละ -5.0 2) กลุ่มตลาดที่ขยายตัวลดลง เช่น อาเซียน 9 เดิมอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ลดเหลือร้อยละ 3.1 และสหภาพยุโรปเดิมอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เหลือร้อยละ 2.0 และ 3) กลุ่มตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นคือ ทวีปอเมริกา เดิมอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เพิ่มเป็นร้อยละ 3 และตลาด CLMV เดิมอยู่ที่ร้อยละ 10.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 10.6 ส่วนทางด้านรองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนประเมินว่า การส่งออกปี 58 จะไม่ติดลบแต่จะขยายตัวได้ ที่ร้อยละ 1.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคมพบว่า การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกหดตัว ร้อยละ -4.4 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวเกือบทุกประเทศคู่ค้า นำโดยจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะมีเพียงสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่ยังสามารถขยายตัวได้ ซึ่งการหดตัวของการส่งออกนั้น เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักมีการชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่ลดลง รวมถึงการที่ราคาน้ำมันดิบคงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปของไทยได้รับผลกระทบ และยังส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น เม็ดพลาสติก มีราคาลดต่ำลงตามด้วย ส่งผลต่อเนื่องต่อการลดลงของมูลค่าการส่งออกรวม โดยทางสศค. คาดว่าในปี 58 การส่งออกสินค้ายังคงมีอุปสรรคหลายด้าน ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.2 (ประมาณการ ณ เดือนเม.ย. 58)
2. ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากอีกร้อยละ 0.25
  • ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกร้อยละ 0.25 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 พ.ค. 58 ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.1 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.25 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนพ.ย.57 ที่ธนาคารกลางตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของจีนในไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอตัวของทุกภาคส่วน โดยราคาบ้าน ในเดือน มี.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแอ รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC's Mfg. PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนถึงความอ่อนแอของอุปทาน ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ผ่านต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวลง และการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ในการแก้ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว
3. อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐฯ เข้าใกล้จุดวกกลับ
  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจากข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทเบเคอร์ ฮิวจ์ส พบว่า จำนวนแท่นขุดเจาะสหรัฐฯ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกันสู่จุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม หลายๆแหล่งผลิตในพื้นที่สำคัญในสหรัฐฯ ได้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยเริ่มกลับมาดำเนินการขุดเจาะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เช่น แหล่งวิลลิสตัน และแหล่งเปอร์เมียน ซึ่งเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตสำคัญหลายรายยังได้มีการปรับประมาณการการผลิตทั้งปีของตนเองเพิ่มขึ้น และบางส่วนยังได้มีแผนที่ขุดเจาะเพิ่มเติมอีกด้วย สาเหตุเนื่องมาจากราคาที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาเริ่มทำให้การขุดเจาะบางส่วนมีความคุ้มค่าที่จะเริ่มดำเนินการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากราคาน้ำมันไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าแนวโน้มเดิมในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แนวโน้มการลดลงของแท่นขุดเจาะก็จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายนโดยประมาณก่อนที่จะมีการทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน จากการสำรวจของธนาคาร BNP Paribas พบว่ากำลังการผลิตที่คั่งค้างที่มีปริมาณมากจะเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของราคาน้ำมันในอนาคตอันใกล้ โดยส่วนเกินดังกล่าวสามารถกดราคาให้ต่ำลงไปสู่ระดับ 50 กว่าเหรียญสหรัฐได้อีกครั้งหากมีการปล่อยออกสู่ตลาดเป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยดังหล่าวส่งผลให้การฟื้นตัวของการผลิตในสหรัฐฯ น่าจะยังเป็นไปอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งมีทิศทางเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปิดล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 65.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ สศค. คาดการณ์ตั้งแต่ต้นปี โดยหากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นคงที่ในลักษณะนี้ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ