รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2015 10:42 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -25.1 ขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.1
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 83.0
  • การส่งออกในเดือน ก.ค. 58 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.9 และ การนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -12.7
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค.58 ยังคงหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ-5.3
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -10.6
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัว ร้อยละ 2.7
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6
  • ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps
  • อัตราการว่างงานของญี่ปุ่น เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (เบื้องต้น) ของยูโรโซน เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 54.1 จุด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ -6.8 จุด
  • มูลค่าการส่งออก ของฮ่องกง เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ m1.6 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงาน ของไต้หวัน เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators              Forecast    Previous
Aug : Inflation (%YOY)    -0.8        -1.1
  • ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -1.1 โดยคาดว่าเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน
Economic Indicator: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 58 มีจำนวน 22,229 คัน คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -25.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูงกอปรกับการเร่งการบริโภคไปก่อนหน้านี้จากนโยบายรถคันแรกทำให้ปริมาณการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งยังคงหดตัว ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.- ก.ค.) ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 38,634 คัน หรือหดตัวร้อยละ -3.1 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในเดือน ก.ค.58 ที่ยังคงหดตัวเช่นกัน โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 31,604 คัน หรือ หดตัวที่ร้อยละ -3.9 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 6.8
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค.58 ยังคงหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ-5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วิทยุ โทรทัศน์ และการปั่นทอ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.9
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.7 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงหดตัว ร้อยละ -5.0
Economic Indicator: This Week
  • การส่งออกในเดือน ก.ค. 58 มีมูลค่า 18,222.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.9 จากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกยานยนต์ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -17.7 อย่างไรก็ตาม สินค้าหลักยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -2.6 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -7.3 และ -3.1 ตามลำดับ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -2.5 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.1
  • การนำเข้าในเดือน ก.ค. 58 มีมูลค่า 17,452.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -12.7 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -24.8 และ -29.5 ตามลำดับรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -0.8 ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบและยานยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 และ 4.7 ตามลำดับ ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -8.6 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -10.4 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.7 จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 58 เกินดุล 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 7 จากความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง นอกจากนี้ การถูกจัดชั้นปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 3 ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะยาว
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 58 คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ -0.8 ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ ร้อยละ -1.1 โดยคาดว่าเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการประกาศครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน จากราคาบ้านในโซน South Atlantic, East North Central และ New England ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 507,000 หลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านภาคใต้และภาคตะวันตกที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 101.50 จุดกลับมาอยู่เหนือระดับ 100.0 จุด และสูงที่สุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนความมั่นใจต่อผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งในปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าที่อยู่ที่ระดับ 115.1 จุด(สูงสุดในรอบ 8 ปี 2 เดือน) และ 92.5 จุด ตามลำดับ

China: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 58 ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และ 1.75 ตามลำดับ นับเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และยังได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรอง (RRR) ลง 50 bps ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18.0 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 58 เป็นต้นไป

Japan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยลดลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าในหมวดทั่วไปที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้ามิใช่อาหารที่ปรับตัวลดลงเป็นหลัก

Eurozone

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ 54.1 จุด เพิ่มขึ้นจาก 53.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ภาคการผลิตอยู่ที่ 52.4 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ 54.3 จุด ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนการเร่งตัวทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของยอดสั้งซื้อ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ และการลดความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์กรีซ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ -6.8 จุด ปรับเพิ่มขึ้น หลังกรีซสามารถบรรลุความตกลงโครงการช่วยเหลือทางการเงินครั้งที่ 3 กับกลุ่มเจ้าหนี้ได้สำเร็จในช่วงกลางเดือน ส.ค. 58

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกจะหดตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน มิ.ย. 58 กลับมาขยายตัวในระดับที่ร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภายหลังหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และถือเป็นระดับการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่งเนื่องจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 49 และสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 23 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวขณะที่การนำเข้าขยายตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 58 ขาดดุล 6.4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราการว่างงาน ณ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ของกำลังแรงงานรวม ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 3 เดือน

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่ในอัตราชะลอลงจากร้อยละ -3.1 ในเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเร่งขึ้นจากร้อยละ -2.0 ในเดือนก่อนหน้า ดังนั้นการนำเข้าที่หดตัวสูง ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 58 ขาดดุลน้อยลงที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ -1.2 ในเดือนก่อน และนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

Singapore: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าโดยรวมหดตัวต่อเนื่องเกือบทุกหมวด อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยา และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

Vietnam: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 19.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล -100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหาร บ้าน และค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 8 เดือนเมื่อ 24 ส.ค. 58 เป็นไปในทิศทางเดียวกันตลาดทั่วโลก (Black Monday) และดัชนีฯ กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 27 ส.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,358.03 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 54,743.1 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เข้าซื้อสุทธิในสัปดาห์นี้ถึง 12,175.9 ล้านบาท หลัง Fed ส่งสัญญาณว่าอาจยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย. 58 และธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 พร้อมลดอัตราเงินสดสำรองลงร้อยละ 0.50 มาที่ร้อยละ 18.0 ต่อปี และออกมาตรการอัดฉีดเงิน 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 25 ส.ค. 58 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 27 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิถึง 14,275.1 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ 1-15 bps จากแรงขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนในช่วงต้นสัปดาห์ แม้ว่าภายหลังทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24-27 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิถึง 16,307.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 27 ส.ค. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.08 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับเงินส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยอ่อนค่าเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ