รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2015 13:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 กันยายน 2558

Summary:

1. รมว. กระทรวงคมนาคม พร้อมดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

2. พาณิชย์เปิดแผนปฏิบัติการ 3 Big Boom เร่งดูแลค่าครองชีพประชาชน

3. ญี่ปุ่นเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นในเดือนส.ค. 58 หลังราคาน้ำมันลดลง

1. รมว. กระทรวงคมนาคม พร้อมดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับมอบนโยบายจาก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจว่า แนวทางการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ต้องขับเคลื่อนให้นำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างคุณภาพชีวิตให้ชนบท และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจะให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงการมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐเน้นในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แต่จะปรับให้เป็นในรูปแบบร่วมกันพัฒนาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาโครงการของกระทรวงฯ ต่อไปจะต้องสามารถสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ หรือปิโตรเคมี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับสมดุลของเศรษฐกิจของประเทศให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินคู่ขนาน ด้วยเครื่องจักรทั้งภายในและภายนอกจากอดีตที่เคยสนับสนุนการส่งออกเมื่อเศรษฐกิจโลกซบเซา ทำให้การส่งออกหดตัว การให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาครัฐจะมีบทบาทในการสนับสนุน และพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน จะทำให้ภาครัฐสามารถลงทุนพัฒนากิจการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยสามารถลดข้อจำกัดของการลงทุนจากเม็ดเงินงบประมาณหรือเงินกู้จากภาครัฐ รวมทั้งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนในกิจการนั้นๆ
2. พาณิชย์เปิดแผนปฏิบัติการ 3 Big Boom เร่งดูแลค่าครองชีพประชาชน
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วนใน 3 เรื่องหรือ 3 Big Boom ได้แก่การดูแลค่าครองชีพ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ และการผลักดันการส่งออกซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดูแลค่าครองชีพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดการบริโภคภาคเอกชนยังคงชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่ลดลง (7m/58 -11.6%) และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง (Q1/58=79.9% ของ GDP)และการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง (7m/58 -4.7%) ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออกในระยะต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้ออกมาตรการดูแลเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนและภาคการผลิตที่กำลังจะเกิดปัญหาในปัจจุบัน และที่จะเกิดปัญหาในอนาคต รวมถึงการออกมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs 2.7 ล้านราย มีมูลค่าคิดเป็น 37.4% ของ GDP ซึ่งจ้างงานกว่า 14.1 ล้านคน (45% ของกำลังแรงงาน)
3. ญี่ปุ่นเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นในเดือน ส.ค. 58 หลังราคาน้ำมันลดลง
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในเดือน ส.ค. 58 หลังจากที่ปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้าโดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 42.7 จุด เป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงประมาณร้อยละ 15.3 จากช่วงต้นปี เนื่องจากภายหลังจากการเกิด สึนามิในปี 54 ญี่ปุ่นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจำนวนมากเพื่อมาทดแทนพลังงานจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.8 ต่อปี ตามการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 58 ปรับเพิ่มอยู่ที่ระดับ 53.7 จุด จาก 51.2 จุดในเดือนก่อน โดยเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี สะท้อนภาคการผลิตที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ0.7 - 11 ต่อปี) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญชะลอตัว และหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ