รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 15:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กันยายน 2558

Summary:

1. เปิดสิทธิประโยชน์คลัสเตอร์สร้างอุตสาหกรรมอนาคตและกระจายสู่ภูมิภาค

2. ADB ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียปี 58 เหลือร้อยละ 5.8

3. แบงก์ชาติจีนอัดฉีดเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงิน

1. เปิดสิทธิประโยชน์คลัสเตอร์สร้างอุตสาหกรรมอนาคตและกระจายสู่ภูมิภาค
  • ตามการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (22 ก.ย. 58) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ตามหลักการนโนบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งสิทธิประโยชน์สำหรับคลัสเตอร์ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ 1) สิทธิประโยชน์สำหรับซูเปอร์ คลัสเตอร์ รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 2) สิทธิประโยชน์สำหรับสำหรับกลุ่มคลัสเตอร์อื่นๆ และ3) สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสำหรับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ โดยสิทธิประโยชน์หลัก คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดหย่อนภาษี การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาคอุตสาหกรรมของไทยกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีมานาน ขณะเดียวกันการลงทุนบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของโลกเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดการลงทุนโครงการเดิม และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีแนวโน้มสู่ภาคบริการมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุนขนาดใหญ่หลายกรณีเป็นการซื้อหุ้นของกิจการที่มีอยู่เดิมมากกว่าเข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ๆ ดังนั้นการกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ชัดเจนกระจายไปในภูมิภาคที่เหมาะสม ถือเป็นการกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะช่วยดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาในไทยได้ จับตา: การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 58
2. ADB ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเอเชียปี 58 เหลือร้อยละ 5.8
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในเอเชียในปี 58 ว่ามีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.0 ในปี 59 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมี.ค. 58 ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.3 ทั้งในปี 58 และปี 59 เนื่องจากการขยายตัวในระดับปานกลางของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย รวมถึงการฟื้นตัวที่ล่าช้าของประเทศอุตสาหกรรม ในขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้น ADB คาดว่าในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ส่วนปี 59 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.8 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปี 58 ส่งสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนจากในช่วงครึ่งแรกของปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการชะลอตัวอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆภายในภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกับจีนในสัดส่วนที่สูง อาทิ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น รวมถึงไทย (เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11.0 ของการส่งออกไทยรวม) 2) ในขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังประสบปัญหาความผันผวนสูงในตลาดการเงินจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ของกรีซ 3) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นชัดเจน สะท้อนจากอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 4) สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษศฐกิจไทยและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าใหม่ในเดือน ต.ค. 58 นี้ จับตา: การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียในช่วงที่เหลือของปี 58
3. แบงก์ชาติจีนอัดฉีดเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงิน
  • สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ในวันที่ 22 ก.ย.58 ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเม็ดเงิน 5 หมื่นล้านหยวน หรือ 7.85 พันล้านดอลลาร์ เข้าสู่ตลาดเงินผ่านข้อตกลงซื้อพันธบัตร (reverse repo) โดยเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นครั้งแรกของสัปดาห์นี้ โดยภายใต้สัญญา reverse repo นี้ธนาคารกลางจีนจะซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารและโบรกเกอร์รายใหญ่ ซึ่งมีข้อตกลงที่จะขายคืนสัญญาดังกล่าวในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจนจากช่วงครึ่งแรกของปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ +7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับราคาบ้าน เดือน ส.ค. 58 ยังลดลงร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใน 6 เดือน 2. ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายทางการเงิน โดยในวันที่ 25 ส.ค. 58 ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.6 และ 1.75 ตามลำดับ นับเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และยังได้ปรับลดอัตราเงินสดสำรอง (RRR) ลง 50 bps ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 18.0 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 58 และ 3. สศค. คาดว่า GDP ของจีนในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 ประมาณการ ณ เดือน กรกฎาคม 2558 จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในระยะต่อไป และตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ