รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2015 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. พาณิชย์ เผย ต.ค.58 CPI หดร้อยละ -0.77 ขณะที่ Core CPI ขยายตัวร้อยละ 0.95

2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. รอบนี้คงดอกเบี้ย

3. มาร์กิตเผยภาคการผลิตสหรัฐดีดตัวสูงสุดรอบ 6 เดือนใน ต.ค. 58

1. พาณิชย์ เผย ต.ค.58 CPI หดร้อยละ -0.77 ขณะที่ Core CPI ขยายตัวร้อยละ 0.95
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ต.ค.58 อยู่ที่ 106.49 ติดลบร้อยละ 0.77 เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.57 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ก.ย.58) ขยายตัวร้อยละ 0.20 ส่งผลให้ CPI ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.58) ลดลงร้อยละ 0.89
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นดือนที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่ต้นปี โดยสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ประกอบกับการลดลงของราคาไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) ในรอบของเดือน ก.ย.ธ.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบอยู่ที่ร้อยละ -0.9 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.97 เนื่องจากเทศกาลกินเจ ทั้งนี้ สศค. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าทั้งปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ -0.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.2 ถึง -0.7) และจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 59 โดยคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.3 - 2.3) คาดการณ์ ณ ต.ค.58
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. รอบนี้คงดอกเบี้ย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย.นี้ ท่ามกลางความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกลางเดือน ธ.ค.นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 4 พ.ย. 58 นี้ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 58 กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง โดยปรับลดครั้งแรกในเดือน มี.ค. จากร้อยละ 2.00 เหลือร้อยละ 1.75 และปรับลดอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดมาในเดือน เม.ย. จากร้อยละ 1.75 เหลือร้อยละ 1.50 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างฟื้นตัวช้า และเป็นการสร้างปัจจัยเอื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงทรงตัว และยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สะท้อนจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจมหภาคทั้งการลงทุน การบริโภค และการส่งออกสินค้า ถึงแม้จะได้แรงสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐ สศค. จึงมองว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ในการประชุมของ กนง. ครั้งต่อไปในวันที่ 4 พ.ย. 58 ที่กำลังจะถึงนี้ กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เช่นเดิม ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ดังนั้น จึงทำให้สมมติฐานด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายประกอบการประมาณการการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 58 ณ ต.ค. 58 ที่ผ่านมา จึงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.50
3. มาร์กิตเผยภาคการผลิตสหรัฐดีดตัวสูงสุดรอบ 6 เดือนใน ต.ค. 58
  • มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนต.ค.ขยายตัวมากที่สุดในรอบ 6 เดือน และปรับตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 54.1 ในเดือน ต.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 53.1ของเดือน ก.ย. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวที่สำคัญ แม้ว่าในไตรมาสที่ 2/58 ที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนจะมีการชะลอลง การแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้งอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอ แต่ก็ยังส่งผลให้ GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) สามารถขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดสร้างบ้านใหม่เดือน ก.ย. 58 ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการฟื้นตัวแต่จากที่ประชุม FOMC ณ 27-28 ต.ค. 58 ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี สะท้อนให้เป็นว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นการฟื้นตัวโดยภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ