รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2016 11:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. ราคาน้ำมัน ฉุดเงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบร้อยละ 0.53 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

2. ส่งออกผัก-ผลไม้ ปี 58 ยอดพุ่ง

3. เกาหลีใต้เผยยอดส่งออกเดือนม.ค.หดตัวร้อยละ -18.5

1. ราคาน้ำมัน ฉุดเงินเฟ้อ ม.ค. ติดลบร้อยละ 0.53 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13
  • กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 105.46 หดตัวร้อยละ -0.53 ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.58) หดตัวร้อยละ -0.26 โดยการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อนั้น เกิดจากการปรับราคาลงของน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ในส่วนของสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น ของใช้ภายในบ้าน และค่าของใช้ส่วนบุคคลมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะอุปสงค์ และอุปทานของตลาด ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 106.18 ขยายตัวร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.58 และขยายตัวที่ร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับ ธ.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงติดลบมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบหลายปีในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประกอบกับการลดลงของราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งมีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ft) ในรอบเดือนม.ค.- เม.ย. 59 จากราคาพลังงานที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง นอกจากนี้ ราคาสินค้าประเภทอาหารสดจำพวกข้าว เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ ได้มีการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากสมมติฐานสำคัญด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 59 อยู่ที่ 35.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59)
2. ส่งออกผัก-ผลไม้ ปี 58 ยอดพุ่ง
  • นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปปี 58 ว่า มีมูลค่ารวม 3,756 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 แบ่งเป็นการส่งออกผัก ผลไม้กระป๋อง และแปรรูปที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 และ ผัก ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้งที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 3.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปย้อนหลัง พบว่าเริ่มกลับมาขยายตัวดีตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 ต่อเนื่องมาจนถึงล่าสุดในเดือน ธ.ค. 58 ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 30.4 ส่งผลให้ทั้งปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 โดยเป็นการขยายตัวดีทั้งหมวดผัก ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และ หมวดผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูปที่ร้อยละ 3.3 และ 5.5 ตามลำดับ ส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มพืชผักและผลไม้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับผักและผลไม้ไทยมีจุดแข็ง ในเรื่องรสชาติที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ผลผลิตหลากลายและต่อเนื่องตลอดปี อีกทั้งไทยเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักผลไม้ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งโรงงานผลิตได้ตามมาตรฐานสากล
3. เกาหลีใต้เผยยอดส่งออกเดือน ม.ค. หดตัวร้อยละ -18.5
  • กระทรวงการค้าอุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือน ม.ค. หดตัวร้อยละ -18.5 สู่ระดับ 3.67 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกเดือน ม.ค.ปรับตัวลงหนักสุดในรอบกว่า 6 ปี สาเหตุที่ทำให้ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือน ม.ค. นั้น มาจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการชะลอตัวของการส่งออกเรือ ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลง เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และการปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญ ส่วนยอดการนำเข้าเดือน ม.ค. หดตัวลงร้อยละ -20.1 สู่ระดับ 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยทั้งยอดส่งออกและยอดนำเข้าเดือน ม.ค. ต่างทำสถิติลดลงเป็นเวลา 13 เดือนติดต่อกันแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเกาหลีใต้จะมียอดส่งออกที่ลดลง แต่ยอดการนำเข้ากลับปรับตัวลดลงมากกว่าการส่งออก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเดือน ม.ค. เกาหลีใต้ยังคงมียอดการส่งออกสูงกว่าการนำเข้า และยังคงเป็นไปตามแนวโน้มตั้งแต่ปี 58 ซึ่งมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ระดับ 1.0596 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ โดยยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปี 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 จากปี 57 ที่ระดับ 8.437 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 59 ของเกาหลีใต้ลงจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 2.7 ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ