รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 12:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. สถาบันอาหารชี้ตลาด CLMV เป้าหมายใหม่ส่งออกอาหารไทย

2. จับตากลุ่ม'โอเปก'ดิ้นขอลดกำลังผลิต

3. ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.84 หลัง IEA คาดสหรัฐผลิตน้ำมันลดลง

1. สถาบันอาหารชี้ตลาด CLMV เป้าหมายใหม่ส่งออกอาหารไทย
  • ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยตลาดข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 15.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเมียนมาเป็นประเทศที่ไทยส่งออกมีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 32 รองลงมาคือเวียดนามสัดส่วนร้อยละ 31.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าในปี 58 การส่งออกอาหารรวมของไทยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,847 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเกิดจากการหดตัวในหมวดของการการส่งออกสินค้าทะเล โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -14.5 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU ของสหภาพยุโรป หรือ EU อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกอาหารสำเร็จรูปที่ยังคงขยายตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นไก่แปรรูปที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 และผลไม้สด ผลไม้กระป๋อง-แปรรูปขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยในปี 59 จะมีแนวโน้มไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแก้ไขปัญหา IUU ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องด้านการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรป ประกอบกับความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกอาหารของไทยในปีนี้
2. จับตากลุ่ม'โอเปก'ดิ้นขอลดกำลังผลิต
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอิรักออกมาแถลงเป็นครั้งแรกภายหลังการประชุมระหว่างอิหร่าน อิรัก กาตาร์ และเวเนซุเอลา ที่กรุงเตหะราน ว่าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่มโอเปก และประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) ที่จะกระตุ้นให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่าเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตน้ำมันดิบที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำในขณะนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา การประมาณการเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของ สศค. ของปี 59 อยู่บนสมมติฐานค่ากลางของราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์ที่ 30 - 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) หรือคิดเป็นการหดตัวที่ ร้อยละ -32.2 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานกลางด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ที่คาดว่าในปี 59 ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลง ตามปริมาณอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้ ทำให้ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทำการปรับลดปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบต่อวันลง ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพารา ที่มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
3. ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.84 หลัง IEA คาดสหรัฐผลิตน้ำมันลดลง
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (22 ก.พ.) หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐ จะปรับตัวลดลงทั้งในปีนี้และปีหน้า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดพุ่งขึ้น 1.84 ดอลลาร์ หรือ 6.2% แตะที่ 31.48 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย.ที่ตลาดลอนดอน ปิดพุ่งขึ้น 1.68 ดอลลาร์ หรือ 5.1% แตะที่ระดับ 34.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากรายงาน "Medium-Term Oil Market Report" เมื่อวานนี้ โดย IEA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐ จะปรับตัวลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ และคาดว่าจะลดลงอีก 200,000 บาร์เรลต่อวันในปีหน้า ส่งผลต่อแรงกดดันราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากบริษัท เบเกอร์ ฮิวจ์ส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านน้ำมันซึ่งเปิดเผยเมื่อว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน โดยลดลง 26 แท่น เหลือ 413 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2552 นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาในปัจจุบัน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าราคาในปัจจุบันถือเป็นราคาที่ต่ำที่สุดของผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉลี่ยแล้ว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ