รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2016 14:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เผย มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

2. หนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้แตะระดับ 1,207 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี

3. ตลาดหลักทรัพย์จีนปิดตลาดที่ 2,918.75 จุด ดิ่งลง -190.80 จุด หรือร้อยละ -6.14 จากวันก่อน

1. กระทรวงพาณิชย์เผย มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 59 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -12.4 ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุล 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวต่อเนื่องนั้น เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนมาเน้นการเติบโตจากในประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัว และภาคการค้าหลายประเทศมีแนวโน้มหดตัว โดยมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ในเดือนม.ค. 59 ต่างหดตัวโดยถ้วนหน้าที่ร้อยละ -12.9 -11.4 -18.8 และ -15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ และ (3) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59 ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยเร่งขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งหดตัว และจะประกาศผลการประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน เม.ย. 59 นี้
2. หนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้แตะระดับ 1,207 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 9 ปี
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้ไตรมาส 4 ปี 58 แตะระดับ 1,207 ล้านล้านวอน (ประมาณ 34.8 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP โดยหนี้ครัวเรือนมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 9 ปี ผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยมีการผ่อนคลายเกณฑ์เกี่ยวกับสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าสินทรัพย์ (Loan-to-Value Ratio) และสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ (Debt-to-Income Ratio) ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกาหลีใต้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 ต่อปีมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 58 ทำให้ต้นทุนของการกู้ยืมอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของเกาหลี โดยเฉพาะในภาคการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งเป็นความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงิน ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์แบบเดียวกับที่เคยเกิดวิกฤตบัตรเครดิตในเกาหลีในปี 46 นอกจากนี้ ยังเป็นข้อจำกัดในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 10 มี.ค. 59 อีกด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากสินเชื่อบ้านโดยการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้โดยดำเนินการผ่านบรรษัทเงินทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกาหลี (Korea Housing Finance Corporation) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ รวมถึงมีการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องทำแบบจำลองวิกฤต (Stress test) ของความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อของผู้ขอกู้ เพื่อลดการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ขอสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย
3. ตลาดหลักทรัพย์จีนปิดตลาดที่ 2,918.75 จุด ดิ่งลง -190.80 จุด หรือร้อยละ -6.14 จากวันก่อน
  • ดัชนี CSI 300 ของจีน ณ วันที่ 25 ก.พ. 59 ปิดตลาดที่ 2,918.75 จุด ปรับลดลง -190.80 จุด หรือร้อยละ -6.14 เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงใน 1 วัน ในอัตราสูงที่สุดในรอบเกือบ 1 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนสะท้อนว่า ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์จีนที่รุนแรงในช่วงต้นเดือน ม.ค. 59 ยังคงไม่สิ้นสุดลง โดยสาเหตุของการปรับลดดังกล่าว นอกจากปัจจัยการขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. 59 ที่ผ่านมาแล้ว ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเทขายหลักทรัพย์ ได้แก่ 1) ความกังวลเกี่ยวกับการประชุม G20 ที่จะมีขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 26 ก.พ. 59 ว่าอาจมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีน 2) การประชุมสภานิติบัญญัติประจำปีของจีนช่วงต้นเดือน มี.ค. 59 ซึ่งอาจมีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มเติม 3) เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดที่ยังบ่งชี้ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน เช่น มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 59 หดตัวร้อยละ -11.4 และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเดือน ม.ค. 59 ที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี 4) ค่าเงินหยวนที่เริ่มมีสัญญาณกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 5) อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนจีนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.12 ต่อปี สะท้อนสภาวะสภาพคล่องตึงตัวในตลาดเงิน อันเป็นผลจากการปรับเกณฑ์การกันสำรองของธนาคารพาณิชย์บางแห่งให้มีความเข้มข้นขึ้น หลังธนาคารเหล่านี้เคยได้รับสิทธิ์การกันสำรองในอัตราพิเศษ ประกอบกับการอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตร 7 วันอีกด้วย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ