รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 14:33 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนม.ค. 59 ได้จำนวน 156.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.6
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 59 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 259.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 59.4 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ม.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.6
  • การส่งออกในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 15,711.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ที่ร้อยละ -8.9
  • การนำเข้าในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 15,473.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.4
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนม.ค. 59 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -109.7 พันล้านบาท
  • อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาส 4 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                  Forecast    Previous

Feb 16 : Inflation (%YOY)     -0.6        -0.5
  • เป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดคาดว่าจะมีการปรับลดลงเล็กน้อย จากราคาเนื้อสัตว์ ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนม.ค. 59 ได้จำนวน 156.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปีและต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ -8.5 โดยมีรายการสำคัญ ดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.0 ต่อปี ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงร้อยละ -11.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ต่อปี และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้การจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 59 จัดเก็บได้ 742.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 54.3 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.9
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 59 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 259.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 239.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.8 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 206.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.7 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 33.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 40.9 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 26.5 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 15.0 พันล้านบาท และรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม 10.1 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 44.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8 ต่อปี ทำให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 59 รายจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 59 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้นจำนวน 807.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.7 ของวงเงินงปม.
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 59.4 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้า ณ ระดับราคาคงที่เป็นสำคัญ โดยหดตัวร้อยละ -10.5 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ม.ค. 59 นี้ขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงมั่นคง
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ม.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.6 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -33.3 ต่อเดือน เนื่องจากมีการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วในช่วงเวลาก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 15,711.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ที่ร้อยละ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -8.5 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ ประกอบกับการหดตัวอย่างต่อเนื่องของสินค้าเกษตรกรรม และ สินแร่และเชื้อเพลิงที่ร้อยละ -5.4 และ -36.8 ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.2 หลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.9 อย่างไรก็ดี สินค้ายานยนต์สามารถกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ ร้อยละ 0.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.4 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -2.8 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -6.3
  • การนำเข้าในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 15,473.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.2 โดยเป็นการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะ สินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -40.7 รวมถึงสินค้าวัตถุดิบ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้ายานยนต์ที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -15.3 -4.6 และ -1.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าทุนได้กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.0 ในส่วนของ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -8.3 และปริมาณนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -4.5 ทั้งนี้ จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 59 เกินดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนม.ค. 59 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -109.7 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -53.2 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -162.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 คิดเป็นการขาดดุลจำนวน -416.8 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน -51.0 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -467.9 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 247.5 พันล้านบาท
  • การจ้างงานเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.2 แสนคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 6.0 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสาขาสำคัญๆ ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการศึกษา สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าในประเทศในระดับสูงในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากสาขาการก่อสร้าง ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -3.6 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน
Economic Indicator: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ-0.6 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดคาดว่าจะมีการปรับลดลงเล็กน้อย จากราคาเนื้อสัตว์ ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากการปรับเข้าสู่ฐานใหม่ที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำมันหดตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ -0.4 จากร้อยละ -4.1 ในเดือนก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 92.2 จุด ลดลงจากบรรยากาศทางธุรกิจและการจ้างงานที่ชะลอตัวลง โดยความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและ 6 เดือนข้างหน้าลดลง ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 302,000 หลัง เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากบ้านเดี่ยวที่ชะลอตัว และคอนโดมีเนียมที่หดตัว ขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง อยู่ที่ 213,800 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากราคาบ้านทุกประเภท

China: improving economic trend

ราคาบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาบ้านในเมืองใหญ่ สะท้อนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามมาตรการกระตุ้นของทางการ

Eurozone: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 (ปรับปรุง) อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นจากราคาอาหารและราคาพลังงาน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ -8.8 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.พ. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ 52.7 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.0 จุด จากยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 53.0 จุด

Japan: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน ผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ 50 จุดต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี จากราคาบ้าน เชื้อเพลิง และค่าขนส่งที่ลดลงต่อเนื่อง

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 ร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากรัอยละ 2.7 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดที่มิใช่อาหารปรับตัวสูงขึ้น

Phillipines: worsening economic trend

มูลค่านำเข้า เดือน ธ.ค. 58 หดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ -25.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี จากการนำเข้าสารกึ่งตัวนำที่หดตัวสูง ทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวสูงส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ 603 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 2.0 ในตัวเลขเบื้องต้น โดยภาคการผลิตหดตัวสูง ส่งผลให้ทั้งปี 58 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.0 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาค่าเช่า เครื่องใช้ในครัวเรือน และค่าขนส่งที่ลดลง

Taiwan: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการหดตัวของการลงทุนและการส่งออกที่ซบเซา ทำให้ปี 58 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นกว่าเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 59 หดตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่หดตัวร้อยละ -7.9 สวนทางกับข้อมูลฝั่งจีนที่การนำเข้าจากฮ่องกงเดือนเดียวกันขยายตัวถึงร้อยละ 71.9 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -9.0 หดตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

UK: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากการส่งออกและสินค้าคงคลัง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ GDP ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.3 จากเดือนก่อน เร่งขึ้นจากยอดขายในกลุ่มร้านขายอาหาร ร้านค้า และการขายนอกร้านค้า ขณะที่ยอดขายน้ำมันหดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 59 ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน ที่ระดับ 0.0 จุด จากความกังวลด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดทำประชามติเกี่ยวกับการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET กลับมาอยู่เหนือระดับ 1,300 จุด และปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ มาแตะที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือนในวันที่ 25 ก.พ. 59 โดยดัชนีฯ ปิดที่ 1,333.42 จุด อันเป็นผลจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดไทย โดยเฉพาะในหลักทรัพย์กลุ่มพลังงานและธนาคาร อันมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน และการประกาศผลประกอบการของในช่วงสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ตลาดยังคาดหวังให้การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 10 มี.ค. 59 มีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 25 ก.พ. 59 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์อยู่ที่ 45,280.3 ล้านบาทต่อวัน และนักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,427.1 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1- 9 bps โดยเป็นการขายทำกำไร หลังจากอัตราผลตอบแทนปรับลดลงมากในช่วงก่อนหน้าส่งผลให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 25 ก.พ. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,631.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 25 ก.พ. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.29 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ส่วนใหญ่ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 0.35 ยกเว้นเยนและดอลลาร์สิงคโปร์ที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.32 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ