รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2016 13:40 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.97 แสนคน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 86.7
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 2.95 ล้านคน ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.4
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 59 หดตัว ร้อยละ -3.5
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.7
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ของจีน ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (เบื้องต้น)ของสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของสหรัฐ เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด
  • มูลค่าส่งออกของอินเดีย เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators           Forecast    Previous
Mar : MPI (%YOY)       -1.5        -1.6
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ที่ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลง 1.2 หมื่นคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากปีก่อนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมบางสาขาก็ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสาขาการผลิต อย่างไรก็ดี การจ้างงานภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการขนส่ง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.97 แสนคน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 86.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.1 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน โดยมีปัจจัยที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการขายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 2.95 ล้านคน ขยายตัว ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.4 และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วที่ร้อยละ 1.2 โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกกลุ่มภูมิภาค โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเป็นหลักโดยขยายตัวร้อยละ 17.7 ขณะที่ยุโรปขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 12.7 อย่างไรก็ดี กลุ่มโอเชียเนียยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ ร้อยละ 15.4 จากนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 9.04 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 15.5

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 59 หดตัว ร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.4 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.2 เมื่อเทียบกับเดือน ก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก (ร้อยละ -36.9) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ -17.1) และข้าวโพด (ร้อยละ -6.7) เนื่องจากเกษตรกร ลดการเพาะปลูกเพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่สินค้าสำคัญอื่นๆ ขยายตัวได้ ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาสแรก หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.0 จากผลของปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกลง โดยเฉพาะในสินค้าข้าวเปลือก (ร้อยละ -25.8) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -16.9) และ ข้าวโพด (ร้อยละ -11.7)

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยราคาของสินค้าเกษตรเกือบทุกหมวดยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่เป็นการหดตัวในอัตราชะลอลง ยกเว้นสินค้าในหมวดปศุสัตว์ที่ราคายังคงขยายตัวได้ เนื่องจากยังคงมีความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในไตรมาสแรก หดตัวร้อยละ -5.2 จากราคายางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดที่ลดลงเป็นหลัก

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -1.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการผลิตสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ที่ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกชะลอตัวลง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์ อาหาร และน้ำมันยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -8.8 จากเดือนก่อน จากบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่หดตัว สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือนมี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -7.7 จากเดือนก่อน จากใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่หดตัวเช่นกัน

China: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนทั้งการเงินและการคลังเป็นแรงส่งสำคัญ ราคาบ้านใหม่ เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 6 โดยเฉพาะราคาในเมืองใหญ่ เช่น เสินเจิ้น

Eurozone: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากการชะลอลงของการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกอาหารเร่งขึ้นมาก ขณะที่การส่งออกวัตถุดิบ โดยเฉพาะน้ำมันยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นหลังจากหดตัวร้อยละ -2.8 ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 20.2 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศออกมาหน้านี้ที่ร้อยละ -0.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ -9.3 จุด ปรับดีขึ้นจาก -9.7 ในเดือนก่อนเล็กน้อย

Japan: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด ลดลงจาก 49.1 จุดในเดือนก่อน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปเกือบทุกตลาดที่หดตัว ส่วนหนึ่งจากเงินเยนที่แข็งค่า ส่วนมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -14.9 ผลจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.5 แสนล้านเยน

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนหน้า

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 59 ทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังเกือบทุกตลาดที่หดตัวต่อเนื่อง ยกเว้นตลาดญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -8.6 จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่ เชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติที่หดตัวในระดับสูงซึ่งเป็นผลจากราคาเป็นหลัก ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

India: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 16 เดือน แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -21.6 หดตัวต่อเนื่อง 16 เดือน และสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากมูลค่านำเข้าที่หดตัวสูงส่งผลให้ ดุลการค้าขาดดุลลดลงมาที่ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวลดลง

United Kingdom: improving economic trend

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังหดตัวใน 2 เดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าพลังงาน มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากการส่งออกเครื่องดื่มและบุหรี่ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักร ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.6 จากการนำเข้าเครื่องจักร ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 1.11 หมื่นล้านปอนด์ อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 4.2 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหมวดที่มิใช่อาหารที่ปรับตัวลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เกินระดับ 1,400 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 21 เม.ย. 59 ปิดที่ 1,423.9 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 49,628 ล้านบาท โดยเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ จากปัจจัยภายนอกด้านราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และเกิดการประท้วงของแรงงานในคูเวต ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed อาจยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 เม.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,196.5 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะปานกลางถึงระยะยาวปรับขึ้นพียง 1-7 bps โดยการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 15 ปี ปี มีผู้สนใจถึง 2.1 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 เม.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,295.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

ค่าเงินบาททรงตัว โดย ณ วันที่ 21 เม.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 35.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่เงินสกุลอื่นๆ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ยกเว้นเยนซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.38 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ