รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 7, 2016 16:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2559

Summary:

1. บอร์ด กกพ. เผยค่าไฟมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน

2. ออมสินเผยหนี้เสียเพิ่มแตะ 4หมื่นล้าน

3. มาเลเซียเผยยอดส่งออกเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี

1. บอร์ด กกพ. เผยค่าไฟมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน
  • นายวีระพล จิรประดิษกุล คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. - ธ.ค. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 30-35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 40-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 60 จะเฉลี่ย 45-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเอฟทีในช่วงเดือน พ.ค.- ส.ค. 59 มีการปรับลดลง 33.3 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหมวดไฟฟ้า เชื่อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างช่วงเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีค่าเป็นลบที่ร้อยละ -7.3 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันตั้งแต่ในช่วงปลายปี 58 จนถึงต้นปี 59 อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี และอาจมีการปรับค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย. ถึง ธ.ค. ได้ โดยหากมีการปรับขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อโดยตรง ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้ามีสัดส่วนในตะกร้าสินค้าประมาณร้อยละ 4.9
2. ออมสินเผยหนี้เสียเพิ่มแตะ4หมื่นล้าน
  • นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อานวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าผลการดาเนินงานในไตรมาสแรกของธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.11 หมื่นล้านบาท โดยมียอดเอ็นพีแอลคงค้างที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ถือว่าเป็นยอดหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อของประชาชนที่ยังคงซบเซาจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 ที่หดตัวร้อยละ -3.9 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 หดตัวแล้วที่ร้อยละ -7.4 ด้วยเหตุนี้มีผลให้การจับจ่ายในภาคครัวเรือนลดลง โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นอาชีพของประชาชนส่วนใหญ่ กอปรกับภาวะการส่งออกของไทยที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยในปี 59 ยังคงมีแนวโน้มหดตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้ลดลง ปัจจัยดังกล่าวนี้จึงก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น และปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้เอง จึงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องจับตามอง
3. มาเลเซียเผยยอดส่งออกเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี
  • ทางการมาเลเซีย เปิดเผยว่า ยอดส่งออกของมาเลเซียในเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ด้วยมูลค่า 6.135 หมื่นล้านริงกิต (1.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและอเมริกาที่ขยายตัวมากขึ้น ส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.4 ของยอดส่งออกทั้งหมดในเดือน เม.ย.59 ปรับตัวลงร้อยละ 16.6 อยู่ที่ 6.75 พันล้านริงกิต (1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันเนื่องมาจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ทำจากปาล์ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม LNG และแร่โลหะ ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทเหมืองแร่ลดลง และการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่หดตัวลงร้อยละ 45.1 ทั้งนี้ ยอดเกินดุลการค้าในเดือน เม.ย. 59 พุ่งขึ้นร้อยละ 31.9 อยู่ที่ 9.06 พันล้านริงกิต (2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับเป็นการพุ่งขึ้นติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 40
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการส่งออกของมาเลเซียในเดือน เม.ย. 59 สูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการส่งออกที่ปรับตัวขึ้นมาจากสินค้าเกษตรและสินค้าในภาคการผลิต โดยมาเลเซียมีอัตราการเปิดประเทศในระดับสูง และมีภาคการผลิตและภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ลดความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำลังเผชิญกับความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียไว้ที่ร้อยละ 4.6 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ