รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 6 - 10 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 14:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 59 คิดเป็น 1.68 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.1
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,050.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 20,687 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -11.9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 34,299 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.1
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ของญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ของยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8.5 ปีที่ร้อยละ 4.7 ของกำลังแรงงานรวม
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ การนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.1

Indicator next week

Indicators        Forecast    Previous
May : API  (%YOY)   -0.9        -1.6
  • ถึงแม้ว่าจะเป็นฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตกลุ่มไม้ผลออกสู่ตลาดมาก แต่บางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญบางชนิดมีแนวโน้มลดลง อาทิ ปริมาณข้าวเปลือกนาปรังมีแนวโน้มลดลงจากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยชนิดอื่น และปริมาณยางพาราที่ยังอยู่ในช่วงผลัดใบ สำหรับหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากอากาศที่ยังคงร้อนจัด
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 59 คิดเป็น 1.68 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย ลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.1 ปรับลดลงจากระดับ 61.5 ในเดือน เม.ย. 59 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 58 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับความเสียหาย และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือน เม.ย. ให้หดตัวร้อยละ -8.0 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค อาทิ การฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวเปลือก รวมทั้งปัจจัยบวกเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกรอบล่างของผลการประมาณการเศรษฐกิจของ สศช. ที่สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 62.6

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,050.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 36.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 95.9 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 20,687 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการหดตัว ในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -21.2 โดยได้รับอานิสงส์จากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ (Bangkok International Motor Show) ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค. - ต้นเดือน เม.ย. ที่ทำให้ยอดขายรถยนต์มีทิศทางดีขึ้น ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งตั้งแต่ต้นปี หดตัวที่ร้อยละ -23.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 34,299 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน เม.ย. 59 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 59 คาดว่าจะยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าจะเป็นฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตกลุ่มไม้ผลออกสู่ตลาดมาก แต่บางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดพืชผลสำคัญบางชนิดมีแนวโน้มลดลง อาทิ ปริมาณข้าวเปลือกนาปรังมีแนวโน้มลดลงจากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยชนิดอื่น และปริมาณยางพาราที่ยังอยู่ในช่วงผลัดใบ สำหรับหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากอากาศที่ยังคงร้อนจัด

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นเพียง 38,000 ตำแหน่ง ต่ำสุดในรอบ 5 ปี 8 เดือน ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 62.6 ของวัยแรงงาน ส่งผลให้อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8.5 ปีที่ร้อยละ 4.7 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่ที่ 890.8 ดอลลาร์สหรัฐ/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากภาคบริการทางธุรกิจและวิชาการ และการศึกษาและสุขภาพ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคบริการ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 52.9 จุด ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 3 เดือน จากดัชนีย่อยคำสั่งซื้อใหม่ทั้งในและต่างประเทศ การจ้างงาน และกิจกรรมทางธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ดุลการค้า เดือน เม.ย. 59 ขาดดุล 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยมูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ร้อยละ -7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าเทคโนโลยีที่กลับมาหดตัว อีกทั้งมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -8.3 ลดลงจากเดือนก่อน จากสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวชะลอลง

China: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดนอกอาเซียนที่หดตัวต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.1 หดตัวชะลอลงจากการนำเข้าจากฮ่องกงที่ขยายตัวสูงผิดปกติส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.3

Japan GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งนี้ ในรายละเอียดพบว่าการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ การใช้จ่ายภาคเอกชน การลงทุนรวม และภาคการส่งออกยังคงหดตัว

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น

United Kingdom: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของยอดขายสินค้าหลายหมวดหมู่ อาทิ อาหาร และสินค้าในครัวเรือน ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทนที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้น

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 59 ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากทุกหมวดสินค้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 112.1 จุด เพิ่มขึ้นทั้งความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจปัจจุบันและ 6 เดือนข้างหน้า

Philippines: mixed signal

ยอดค้าปลีกสุทธิ เดือน เม.ย. 59 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยาสูบ เครื่องหนัง สื่อสิงพิมพ์ และยางและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ขยายตัวสูงอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 1 ปี จากราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนทุกหมวดสินค้า ยกเว้นน้ำมันมูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 59 หดตัวร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนือง 13 เดือน จากการส่งออกไปจีนที่หดตัว

Taiwan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.4 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 59 เกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: improving economic trend

ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยเหลือการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในภาคการผลิตและต่อเรือที่ซบเซา

Malaysia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอาเซียนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -2.3 ส่วนหนึ่งจากราคาสินแร่และเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย 59 ที่ระดับ 1,445.54 จุด ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 9 มิ.ย. 59 ปิดที่ 1,435.65 จุด ลดลงจากแรงขายทำกำไร โดยทั้งสัปดาห์มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 42,985 ล้านบาท เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อในหลักทรัพย์หมวดพลังงานตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 3,558.9 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะในพันธบัตรระยะกลาง เป็นไปตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดคาดว่า Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในการประชุม FOMC วันที่ 14-15 มิ.ย. 59 ประกอบกับความกังวลต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิสูงถึง 16,569.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 9 มิ.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 35.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.39 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ 1.69 ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าในอัตราที่น้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.09 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ