รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 1, 2016 13:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กันยายน 2559

Summary:

1. ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. 59 โตแบบชะลอตัว

2. กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค. 59

3. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58

1. ธปท. เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. 59 โตแบบชะลอตัว
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงหลังเร่งการเบิกจ่ายและปัจจัยชั่วคราวที่กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนลดลง ด้านการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 59 ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 59 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนภาพรวมยังคงมีสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง เป็นสำคัญนอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ต่อปี
2. กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค. 59
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนก.ค. 59 โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี ทำให้ ดุลการค้าเกินดุลอยู่ที่ 0.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า กอปรกับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และผลผลิตภาคเกษตรที่หดตัวในระดับสูงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 59 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล สินค้าส่งออกสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของไทยในตลาดส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลียที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกของไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่มีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดย สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐของปี 59 จะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.9 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)
3. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 58
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ประจำเดือน ส.ค. 2559 เพิ่มขึ้น 4.4 จุด อยู่ที่ระดับ 101.1 (ฐานปี 2528 = 100) ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2558 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 97.0 โดย ผู้บริโภคมีมุมมองที่ดีขึ้นในเรื่องของภาวะธุรกิจ สภาวะการจ้างงาน และรายได้ในระยะใกล้นี้ ทั้งนี้ ดัชนีประเมินภาวะเศรษฐกิจเศรษฐกิจปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2 จุด อยู่ที่ ระดับ 118.8 ส่วนดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้น 4.4 จุด อยู่ที่ระดับ 82.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อบ้านและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงยอดการใช้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนการใช้จ่ายผู้บริโภค การก่อสร้างที่พักอาศัย และภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น ซึ่งสัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเร่งขึ้นใน ไตรมาส 3 หลังจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ต่อปี ในครึ่งแรกของปี 59 ทั้งนี้ สศค. ประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ณ เดือน ก.ค. 59 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ