รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2016 10:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์ นำคณะผู้ส่งออกมันสำปะหลังไปเจรจาขยายตลาดที่เกาหลี-ญี่ปุ่น

2. เมียนมาร์ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 7 ล้านคนภายในปี 2563

3. เกาหลีใต้เผยหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นสู่อัตราเลขสองหลักในรอบ 3 ปีครึ่ง

1. พาณิชย์ นำคณะผู้ส่งออกมันสำปะหลังไปเจรจาขยายตลาดที่เกาหลี-ญี่ปุ่น
  • นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 26-30 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้นำผู้ส่งออกมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังเดินทางไปขยายตลาดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ามันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น รวมถึงเป็นการสำรวจความต้องการของผู้ซื้อเพื่อนำไปวางแผนการผลิตของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกเป็นอันดับ 3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรรวม โดยในปี 58 มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 1.2 ของการส่งออกรวม ซึ่งตลาดคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ตามลำดับ และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 พบว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีมูลค่า 1,962.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -21.9 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ประกอบกับจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับแรก มีการใช้ข้าวโพดเพื่อทดแทนการใช้มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยลดลง ทั้งนี้ คาดว่าการเดินทางไปสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าสินค้ามันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่นครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในระยะต่อไป อีกทั้งยังเป็นการทดแทนตลาดจีนที่ลดการนำเข้าจากไทยอีกด้วย จับตา: การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 59
2. เมียนมาร์ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 7 ล้านคนภายในปี 2563
  • สื่อของทางการเมียนมาร์รายงานว่า เมียนมาร์ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในประเทศเป็นจำนวน มากถึง 7 ล้านคนภายในปี 2563 และเรียกร้องให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวทำงานด้วยจิตสำนึกของความรับผิดชอบ ทั้งนี้เมียนมาร์ได้เห็นการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเมื่อปี 2558 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมียนมาร์จำนวน 4.6 ล้านคน และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมากถึง 7 ล้านคนภายในปี 2563
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อาเซียนได้มีการร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียนในปี 2560 โดยการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวอาเซียน โดยในปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวในอาเซียน มากถึง 108.9 ล้านคน และคาดว่าในปี 2560 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 121 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทยที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค คาดว่าจะได้รับอานิสงค์ของการเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวในภูมิภาคเช่นกัน สำหรับ 8 เดือนแรกปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทย ทั้งสิ้น 2.25 แสนล้านคน ขยายตัวร้อยละ 43.7 ต่อปี และมีจำนวนนักท่องเที่ยวจาก CLMV มาเที่ยวไทย ในช่วง 8 เดือนแรก จำนวน 2.21 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 22.4 ต่อปี จับตา: มาตรการในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน
3. เกาหลีใต้เผยหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นสู่อัตราเลขสองหลักในรอบ 3 ปีครึ่ง
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ระบุว่า ยอดหนี้สินภาคครัวเรือนเฉลี่ยของเกาหลีใต้อยู่ที่ 72.1 ล้านวอน หรือ 65,280 ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นสุดเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นร้อยละ 23.9 ต่อปี จากระดับ 58.2 ล้านวอน ณ สิ้นสุดปี 2555 โดยหนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้ดังกล่าว ปรับตัวขึ้นสู่อัตราเลขสองหลักในรอบ 3 ปีครึ่ง หลังจากที่ BOK ปรับลดต้นทุนการกู้ยืมลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารเกาหลีใต้ จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ในเดือน ก.ค.55 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ในเดือน มิ.ย.จนถึงปัจจุบัน และนโยบายการผ่อนคลายข้อกำหนดด้านการจำนอง เป็นสาเหตุให้หนี้สินภาคครัวเรือนเฉลี่ยของเกาหลีใต้อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบวงกว้างต่อการบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการปล่อยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาพรวมของเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้ง มูลค่าการส่งออกเดือนส.ค.59 กลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวเป็นเวลานานถึง 19 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ม.ค.58 สอดคล้องกับดัชนีสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเดียวกัน ที่ขยายตัวในอัตราเร่งจากเดือนก่อน ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59) จับตา : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ