รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 28 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 31, 2016 13:51 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การส่งออกในเดือน ก.ย. 59 มีมูลค่า 19,460.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.4
  • การนำเข้าในเดือน ก.ย. 59 มีมูลค่า 16,914.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 5.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 59 มีจำนวน 25,641 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 13.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 59 มีจำนวน 38,000 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.3
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาส 3 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 98.6 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -8.0 จุด
  • มูลค่าส่งออกและนำเข้าของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.9 และ -16.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 498 พันล้านเยน

Indicator next week

Indicators              Forecast    Previous
Oct : Inflation (%YOY)    0.5         0.4
  • ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันเริ่มมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้ ขณะที่ราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์และไข่มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week

การส่งออกในเดือน ก.ย. 59 มีมูลค่า 19,460.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการกลับมาขยายตัวอีกครั้งของหมวดสินค้าเกษตรกรรมที่ร้อยละ 8.3 ตามการขยายตัวได้ดีของสินค้าประมง อาทิ กุ้ง สินค้าปศุสัตว์ อาทิ ไก่ และหมู และ สินค้ากสิกรรม อาทิ ผักและผลไม้สด ข้าว และ มันสำปะหลัง ประกอบกับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 ตามการขยายตัวของทุกสินค้าหลัก อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -2.2 ตามการลดลงของอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ น้ำตาลทราย ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 2.1 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -0.7

การนำเข้าในเดือน ก.ย. 59 มีมูลค่า 16,914.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 จากการที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 2.0 ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งเช่นกันที่ร้อยละ 10.2 ตามการขยายตัวดีของสินค้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม ประกอบกับสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม สินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -2.2 ทั้งนี้ ราคานำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 4.3 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในไตรมาสที่ 3 ปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -7.3 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 59 เกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 59 มีจำนวน 25,641 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลออก และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากที่เคยหดตัวต่อเนื่องหลังจากหมดโครงการรถคันแรกในสิ้นปี 55 กอปรกับมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งใน ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 10.6 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 59 มีจำนวน 38,000 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.6 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว ทำให้ในไตรมาส 3/59 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.4 ต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่การจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในไตรมาส 3/59 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.4 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว

Economic Indicator: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 0.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันเริ่มมีการลดลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้ ขณะที่ราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์และไข่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดบ้านใหม่สหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ 593,000 หลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.1 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านทุกภูมิภาคที่ขยายตัว ยกเว้นภาคตะวันตก ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน ส.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาบ้านทุกภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 98.6 จุด กลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 100.0 จุดครั้งแรกในรอบ 2 เดือน สะท้อนความไม่เชื่อมั่นต่อการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงอีก 6 เดือนข้างหน้า

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -8.0 จุด ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากในเดือน ก.ย. 59 ที่อยู่ที่ -8.2 จุด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงสะท้อนความกังวลของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายต่าง ๆ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด สูงสุดในรอบ 2 ปี ครึ่ง สอดคล้องกับดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ต.ค. 59 (เบื้องต้น) ที่อยู่ที่ระดับ 53.5 จุด สูงสุดในรอบ 9 เดือน ส่งผลให้ดัชนีฯ รวม (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด สูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น

Japan: mixed signal

มูลค่าส่งออกและนำเข้า เดือน ก.ย. 59 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.9 และ -16.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ จากการส่งออกและนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุล 498 พันล้านเยนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 59 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด สูงขึ้นจากระดับ 50.4 จุดในเดือนก่อนหน้า และอยู่สูงเกินระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากดัชนีหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส จากปัจจัยฐานต่ำ อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวมผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 7.8

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากหดตัวต่อเนื่องกว่า 1 ปี เช่นเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า ที่ ขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 59 ขาดดุล 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Singapore: mixed signal

อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการจ้างงานอยู่ที่ 3.7 ล้านตำแหน่ง ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบต่อเนื่อง 23 เดือน จากราคาเครื่องนุ่งห่มและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง จากผลผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ยา

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเท่ากับเดือนก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 2.1 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 59 อยู่ที่ระดับ -3.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.0 จุด

Australia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ปี 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้ระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 27 ต.ค. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,498.36 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 48,734.65 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่แรงขายมาจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ดัชนีฯ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก และมีปัจจัยกดดันจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน โดยเฉพาะหลักทรัพย์กลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 27 ต.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,023.50 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดยเปลี่ยนแปลง -1 ถึง - 7 bps โดยมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ขณะที่มีแรงขายจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark อายุ 5 ปีมีนักลงทุนสนใจทั้งสิ้น 1.67 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 27 ต.ค. 59 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรสุทธิ 791.92 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 27 ต.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.44 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคทุกสกุล เนื่องจากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เงินบาท อ่อนค่าลงใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ