รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 มิถุนายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 4, 2017 11:17 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 1.4
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -10.9 พันล้านบาท
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. 60 เบิกจ่ายได้ทังสิน 209.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ค. 60 ได้จำนวน 268.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.9
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 60 มีมูลค่า 62,020 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.6
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 40.4
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. 60 หดตัวที่ร้อยละ -0.5
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 60 (ปรับปรุง) ร้อยละ 1.4 จาก ไตรมาสก่อนหน้า
  • อัตราการว่างงานของญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3 จุด
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 27.4 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวชะลอลงในหมวดพืชผลสำคัญ จากผลผลิตยางพารา มันสำปะหลัง และกลุ่มไม้ผล และหมวดประมงจากผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ที่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อน สลับกับปริมาณฝน ขณะที่หมวดปศุสัตว์ผลผลิตขยายตัวได้ดีจากผลผลิตไก่เนื้อที่มีอุปสงค์เพิ่มมากขึ้นในช่วงเปิดเทอม ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในช่วง 5 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. 60 หดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล และเป็นการหดตัวเดือนแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าที่มีราคาหดตัว อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวโพด เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดน้อยลงจากจีนจากแผนการระบายข้าวโพดในสต๊อกเพื่อผลิตเอธานอลในประเทศ ขณะที่ราคาในหมวด ปศุสัตว์หดตัวตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ลดลง ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.8 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยได้รับอานิสงส์จากผลผลิตของอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และการผลิตเนื้อไก่แช่แข็ง จากอุปสงค์เพื่อการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่การผลิตในหมวด เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า และการผลิตคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ มีการชะลอตัวลงตามภาวะการก่อสร้าง รวมถึงการผลิตในหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการผลิตเครื่องปรับอากาศ ที่หดตัวตามสภาพอากาศที่ไม่ร้อนมากเหมือนช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรก ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -10.9 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 27.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 16.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 ขาดดุลจำนวน -616.8 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 2.8 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -614.0 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 404.4 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล -209.7 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 231.6 พันล้านบาท

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. 60 เบิกจ่ายได้ทังสิน 209.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.8 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 202.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 171.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 30.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -16.5 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 12.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,864.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 63.8 ของวงเงินงบประมาณ (2,923.0 ล้านล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ค. 60 ได้จำนวน 268.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -12.9 ต่อปี โดยการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ -0.2 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงร้อยละ -2.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ต่อปี ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 1,496.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.9 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 4.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของประมาณการเอกสารงบปม.

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 60 มีมูลค่า 62,020 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวเป็นบวกจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.6 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังหักผลทางฤดูกาล โดยมูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.2 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 18.1 ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 3.0

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 40.4 ต่อปี ขยายตัวได้ร้อยละ 10.1 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -8.8 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อไตรมาส หลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ หดตัวที่ร้อยละ -15.0

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. 60 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -0.1 ต่อเดือน ทั้งนี้ 5 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 60 (ปรับปรุง) ร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่พุ่งขึ้น ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 6.1 แสนหลัง (annual rate) หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อน จากยอดขายบ้านใหม่ในเขตตะวันตก และทางใต้ที่ขยายตัวดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ (PMI) ของไอเอชเอส มาร์กิต (เบืองต้น) เดือน มิ.ย. 60 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.1 และ 53.0 จุด ตามลำดับ

Japan: improving economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ทรงตัวจากเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในเดือนก่อนหน้า

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 60 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3 จุด จากระดับ 57.0 จุด ในเดือนก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มิ.ย. 60 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.7 จุด จากระดับ 56.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน

UK: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ -10.0 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -5.0 จุด

Hong Kong: mixed signal

การส่งออกเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามและชะลอลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับ การนำเข้าเดือน พ.ค. 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้าด้านยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อนหน้า

Taiwan: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.78 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.15 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Vietnam: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.54 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการเร่งขึ้นของหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน และหมวดการศึกษา ยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 29 มิ.ย. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,578.12 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 41,326.93 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายของนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. - 29 มิ.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,254.01 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุ ประมาณ 2- 9 bps ยกเว้นพันธบัตรช่วงอายุ 3 ปี ที่ลดลงประมาณ 1 bps โดยพันธบัตรระยะยาวมีการปรับเพิ่มสูงสุด ในสัปดาห์นี้มีการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ที่มีนักลงทุนสนใจถึง 3.21 เท่า ของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. - 29 มิ.ย. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 8.5 พันล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 29 มิ.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 33.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ เงินยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าค่าเงินอื่น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าขึ้นร้อยละ 0.17

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ