รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 27 กรกฎาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2017 15:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 60 มีมูลค่า 20,281.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 ขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 18,365.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.4 ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 60 หดตัวร้อยละ -5.5
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมิ.ย. 60 ได้จำนวน 241.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 99.7 พันล้านบาท
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มิ.ย. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 224.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -15.1
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มิ.ย. 60 หดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -1.1
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 17.5
  • GDP ของสหราชอาณาจักรไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของเกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 60 ที่ประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.00-1.25 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 60 มีมูลค่า 20,281.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 20.2 ตามการขยายตัวที่ดีของข้าวและยางพาราเป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าอุตสาหกรรมก็สามารถขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 11.6 ตามการขยายตัวในระดับสูงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และหมวดสินค้าเชื้อเพลิงก็มีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 และ 24.2 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 7.8

มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 60 มีมูลค่า 18,365.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.2 จากการขยายตัวดีของทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.3 ตามการขยายตัวของสินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และทองคำเป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าทุนก็ขยายตัวดีเช่นกันที่ ร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดสินค้ายานยนต์ก็สามารถขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 3.6 7.9 และ 8.9 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 15.0 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า ต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 60 เกินดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมิ.ย. 60 ได้จำนวน 241.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคลดลงร้อยละ -0.6 ต่อปี ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 1,740.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.1 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 7.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.4 ของประมาณการเอกสารงบปม.

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวด ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 17.2) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 1.7) และหมวดประมง (ร้อยละ 14.0) โดยผลผลิตที่ขยายตัวดีในเดือนมิ.ย. นี้ ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และทำให้ครึ่งแรกของปี 60 ดัชนีฯ ขยายตัวร้อยละ 9.7

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 60 หดตัวร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ -5.4) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 6.2) และหมวดประมง (ร้อยละ -5.0) ตามการลดลงของราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ตามแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ราคามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาลดลงเช่นเดียวกันตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 60 ดัชนีฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 4.9

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มิ.ย. 60 มีมูลค่า 62,965 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังหักผลทางฤดูกาล โดยมูลค่าการจัดเก็บภาษีจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวที่ ร้อยละ -3.8 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในเดือน มิ.ย. 59 ที่มีการเก็บภาษีจากการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 และ 6 เดือนแรกขยายตัวที่ร้อยละ 2.3

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี และขยายตัวได้ร้อยละ 9.7 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -9.7 ต่อปี แต่คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อไตรมาส หลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -9.7

Economic Indicators: This Week

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มิ.ย. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 99.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -71.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 28.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 ขาดดุลจำนวน -514.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ ขาดดุล -71.0 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -585.7 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 429.7 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ ขาดดุล -156.0 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 285.3 พันล้านบาท

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มิ.ย. 60 ปี งปม. 60 เบิกจ่ายได้ 224.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -15.1 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 212.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -15.2 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 181.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -14.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 30.8 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ -21.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 45 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 2,077.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 71.1 ของวงเงินงบประมาณ (2,923.0 พันล้านบาท)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

เครื่องชีด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ 5.52 ล้านหลัง (annual rate) หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคากลางบ้านมือสอง ส่งผลให้ยอดขายบ้านมือสอง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อน และยอดขายบ้านใหม่ อยู่ที่ 6.1 แสนหลัง ขยายตัวตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 6.15 แสนหลัง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้าด้านยอดขายบ้านมือสอง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 60 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 60 ที่ประชุม FOMC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.00-1.25 ต่อปี

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.3 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ด้านยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 5.65 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.56 ต่อกำลังแรงงานรวม อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 2 ปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

South Korea

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 3.78 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.79 ต่อกำลังแรงงานรวม ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.85 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 60 หดตัวร้อยละ -1.77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.87 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดย ณ วันที่ 26 ก.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,583.17 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 42,244.18 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 26 ก.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 580.43 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง 1-3 bps ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวบางช่วงปรับตัวลดลง 1-3 bps ซึ่งในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 3.47 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 24 - 26 ก.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,537 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 26 ก.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.43 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ เงินเยน ยูโร วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.30

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ