รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 28, 2017 15:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 60 มีมูลค่า 18,852.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 19,039.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.5
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.4 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ค. หดตัวร้อยละ -15.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 60 มีจำนวน 26,799 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.0
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 60 มีจำนวน 38,379 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.8
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 83.9
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขจริง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -1.5 จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 60 มีมูลค่า 18,852.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากการขยายตัวในดีเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 42.2 ตามการขยายตัวดีของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังเป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าอุตสาหกรรมก็ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 8.6 ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ ร้อยละ -0.6 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 8.2

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ค. 60 มีมูลค่า 19,039.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 จากการขยายตัวดีของทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 29.3 ตามการขยายตัวของสินค้าอุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และทองคำเป็นสำคัญ รวมถึงหมวดสินค้าทุนก็ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 9.5 นอกจากนี้ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดสินค้ายานยนต์ก็สามารถขยายตัวได้ดีเช่นกัน ที่ร้อยละ 3.1 19.6 และ 15.7 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 15.5 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 60 ขาดดุล -0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ค. 60 มีจำนวน 26,799 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน ตั้งแต่ต้นปี แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล เป็นการหดตัวร้อยละ -6.1 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 22.6

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 60 มีจำนวน 38,379 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี และทรางตัวที่ร้อยละ 0.0 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัว ร้อยละ 5.4 ต่อปี และคิดเป็นขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 60 ขยายตัวที่ ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน และภาครัฐที่ขยายตัวดี สำหรับในด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสาขาเกษตรกรรมที่ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 15.8 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก รวมถึงสาขาการค้าปลีกค้าส่ง และสาขาบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง ที่ขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สาขาการผลิตขยายตัวชะลอลง และสาขาการก่อสร้างหดตัว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.7 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับลดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้กระทบต่อกำลังซื้อที่ลดลง พร้อมทั้งเป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตและการขนส่งสินค้า ประกอบกับมีความกังวลด้านการขาดแคลนแรงงาน และการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่อาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 101.6 จาก 100.7 ในเดือน มิ.ย. 60 จากภาวการณ์ของภาคส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการของกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะส่งผลต่อการบริโภคของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลัง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการขยายตัวได้ดีของผลผลิตทั้ง 3 หมวด ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 20.4) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 5.2) หมวดประมง (ร้อยละ 16.4) โดยในหมวดพืชผลสำคัญ ผลผลิตที่ขยายตัวดี อาทิ มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ได้แก่ ลำไย เงาะ และมังคุด ตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมทั้งผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้รับอานิสงส์จากการเหลื่อมเดือนเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวตั้งแต่ฤดูกาลก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมเฉลี่ย 7 เดือนของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ค. หดตัวร้อยละ -15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.5 และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยเป็นการหดตัวของราคาในทุกหมวดผลผลิต ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ -18.1) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ-7.1) และหมวดประมง (ร้อยละ -6.0) ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาข้าวขาวที่หดตัวตามการแข่งขันด้านราคาของประเทศเวียดนาม รวมถึงราคาข้าวโพดที่ราคาลดลงตามการใช้ข้าวสาลีเพื่อทดแทนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และราคาปาล์มน้ำมันที่มีอุปสงค์ต่ำตามปริมาณสต๊อกที่สูงของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ย 7 เดือนของปี 60 ยังคงขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ 5.7 แสนหลัง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 6.3 หลัง และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 57.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.6 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -1.5 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.7 จุด

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออกเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและขาดดุลการค้าที่ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยบะ 3.78 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 60 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้ายานพาหนะ เดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 37.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -27.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 60 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 4.5 ต่อปี

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (ตัวเลขจริง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล)

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับตลาดหุ้นในเอเชีย เช่น SHSZ300 (เซี่ยงไห้) TWSE (ไต้หวัน) และ KOSPI (เกาหลีใต้) เป็นต้น ที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 23 ส.ค. 60 ปิดที่ระดับ 1,573.38 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 36,280 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทังนี ระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,753 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันเพิ่มสูงขึ้น 1-3 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง-ยาวลดลง 2-8 bps สอดคล้องกับกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทังนีระหว่างวันที่ 21 ส.ค. - 23 ส.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,199 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 23 ส.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ โดยมากแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.39

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ