รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 5, 2017 13:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.32
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ค. 60 เบิกจ่ายได้ 256.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ค. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -94.7 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัว ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.1
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,225.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.8 ของ GDP
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ค. 60 ได้จำนวน 169.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ค. 60 คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.9
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 25.5
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (คาดการณ์) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP อินเดีย ไตรมาส 2 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วง เดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -1.5 จุด
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.32 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก นอกจากนี้ ราคาอาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในตะกร้าเงินเฟ้อ (สัดส่วนร้อยละ 14.4) ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และผักผลไม้มีการปรับตัวลดลงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ค. 60 ปีงปม. 60 เบิกจ่ายได้ 256.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 251.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 227.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.5 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 24.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 29.6 พันล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 11.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 สามารถเบิกจ่ายได้ 2,514.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 79.7 ของวงเงินงบประมาณ (2,923.0 พันล้านบาท)

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ค. 60 พบว่าดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -94.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 45.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -48.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ดุลเงินงบประมาณในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 60 ขาดดุลจำนวน -610.2 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -24.4 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -634.6 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 451.7 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ ขาดดุล -182.9 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 258.4 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยหมวดการผลิตที่ขยายตัว อาทิ การผลิตในหมวดอาหาร ยานยนต์ ยางและพลาสติก และหมวดเครื่องหนัง อย่างไรก็ดี หมวดการปั่น การทอ และหมวดเฟอร์นิเจอร์และเครืองประดับที่มีการผลิตหดตัวในเดือน ก.ค. 60 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 การผลิตขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวที่ ร้อยละ 12.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 1.2

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,225.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 39.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 96.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 95.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)

Economic Indicators: This Week

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนก.ค. 60 ได้จำนวน 169.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 ต่อปีโดยการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ลดลงร้อยละ 4.2 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงร้อยละ 5.3 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.7 ต่อปี ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 1,912.7 พันล้านบาท ลดลง ร้อยละ -3.1 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการ 6.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของประมาณการเอกสาร งปม.

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.ค. 60 มีมูลค่า 58,681 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังหักผลทางฤดูกาล โดยมูลค่าการจัดเก็บภาษีจากการใช้จ่ายภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ -0.6 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงในช่วง7 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.1

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 25.5 ต่อปี แต่หดตัว ร้อยละ -10.6 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 60 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -5.3

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 60 (คาดการณ์) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 122.90 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 120.0 จุด

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -1.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.7 จุดอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 8.8 ต่อกำลังแรงงานรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 57.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.8 จุด

Japan: mixed signal

อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 43.7 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับที่ 43.9 ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากร้อยละ 5.5 ในเดือนก่อนหน้า

UK: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.9 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.3 จุด

Vietnam: improving economic trend

การส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 14.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 8.1 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือนก่อนหน้าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด

India: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด

China: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ทางการ) เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 51.6 เพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 51.1 ในเดือน ก.ค. 60

Hong Kong: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อน

South Korea: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ -0.5 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อน ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ส.ค. 60 ที่ร้อยละ 1.25

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับตลาดหุ้นในเอเชีย เช่น ฮ่องกง และTWSE (ไต้หวัน) เป็นต้น ที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 31 ส.ค. 60 ปิดที่ระดับ 1,616.16 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 60,972.68 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติซือหลักทรัพย์สุทธิ 5,431.57ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นช่วงอายุ 6 เดือน ปรับเพิ่มสูงขึ้น 2 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง-ยาวลดลง 2-8 bps สอดคล้องกับกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. - 31 ส.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 10,615.91 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 31 ส.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 33.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ โดยมากแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.30

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ