รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 ตุลาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 10, 2017 15:07 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,274.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 60 เท่ากับ 107.3 ขยายตัวร้อยละ 4.2
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 60 มียอดคงค้าง 16.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.4
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค. 60 เกินดุล 4,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 62.5
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.86
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 44.10
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 55.9 จุด
Economic Indicators: This Week

หนีสาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,274.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 49.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน (คิดเป็นร้อยละ 95.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 96.7 ของยอดหนี้สาธารณะ)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 60 เท่ากับ 107.3 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 19.2 ทำให้ไตรมาส 3 ของปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของ ปี 60 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 60 มียอดคงค้าง 16.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจชะลอลง และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.8 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ส.ค. 60 เกินดุล 4,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,764 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 3,399 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 1,258 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 29,861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 62.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 62.4 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง อีกทั้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อยังคงขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี อยู่ที่ระดับ 63.6 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 59 ที่อยู่ที่ระดับ 62.2

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.86 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก และจากการปรับโครงส้รางภาษีสรรพสามิต ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทยาสูบและแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) ตามต้นทุนราคาก๊าซและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ค่าไฟฟ้าในหมวดเคหสถานปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.53 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการ เดือน ก.ย. 60 อยุ่ที่ระดับ 55.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.0 จุด การส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ด้านนำเข้า เดือน -ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 60 ขาดดุลอยู่ที่ -73.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Eurozone: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.4 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด ด้านดัชนี PMI รวม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 56.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.7 จุด อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 44.10 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 4 ปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 52.90 จุด เพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 52.8 ในเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 7 เดือน ปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 51 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 ปี แต่ยังอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงการขยายตัว

UK: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 55.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.7 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.6 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด

India: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุดทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการ เดือน ก.ย. 60 อยุ่ที่ระดับ 50.7 จุด ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.5 จุด สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางอินเดียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.00

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.7 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 123.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 121.9 จุด

Malaysia: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.4 จุด ด้านการส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 21.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 22.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเกินดุลการค้าใน เดือน ส.ค. 60 ที่ 9.9 พันล้านริงกิต

Philippines: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.6 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

South Korea: improving economic trend

การส่งออก เดือน ก.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 17.3 ในเดือนก่อนหน้า ขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 7ปี ในขณะที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกาหลีใต้เกินดุลการค้า 13,749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อเดิอน ก.ย. 60 อยู่ทีร้อยละ 2.1 ลดลงจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อนหน้าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด อยู่ในระดับขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

Hong Kong: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 4.0 ในเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด เพิ่มขึ้นจาก 49.7 ในเดือนก่อนหน้า อยู่ในภาวะขยายตัวอีกครั้ง

Australia: mixed signal

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 60 ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 59.8 จุด ส่วนดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ก.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 53 จุด สะท้อนถึงเศรษฐกิจชะลอลงการส่งออก เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ด้านนำเข้า เดือน ส.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 60 เกินดุลอยู่ที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนี Dow Jones (สหรัฐฯ) และดัชนี MSCI Asia Pacific Index ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากทิศทางนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 5 ต.ค. 60 ปิดที่ระดับ 1,690.87 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 2-5 ต.ค. 60 ที่ 56,466 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,371.83 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสัน 1 เดือน - 1 ปี และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3 bps ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง 1-6 สอดคล้องกับกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 2-5 ต.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,219.04 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 5 ต.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินเยนและริงกิตที่แข็งค่าขึ้นลงเช่นกัน นอกจากนี้ โดยรวมแล้วเงินบาทแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ยกเว้นเงินเยน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.13

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ