รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 30, 2017 14:47 —กระทรวงการคลัง

"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ และ กทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ และกทม.และปริมณฑล โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.7 และ 12.4 ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ที่ยังคงขยายตัวจากผลผลิตยางพารา และกุ้ง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายนขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวที่ร้อยละ 31.8 ต่อปี ตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 13.6 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 13.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก สุกร และไก่เนื้อ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในจังหวัดที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 14.3 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 3 ปี 2560 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่ระดับ 97.7 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยเฉพาะในจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และตาก เป็นต้น ส่งผลให้ใน ไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2560 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่ระดับ 75.2 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายนขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 7.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2560 จำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับจากการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2560 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 487.1 ต่อปี ตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 223.3 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 9.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่ระดับ 89.4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น สำหรับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนเครื่องชี้ด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร จากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 18.5 ต่อปี โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี และอุดรธานี เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 7.6 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกไตรมาสที่ 3 ปี 2560 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันที่ระดับ 80.3 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาล ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน (เบื้องต้น) 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคร้อยละ 2.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ฉบับที่ 46/2560

วันที่ 30 ตุลาคม 2560

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ