รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 กุมภาพันธ์ 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2018 15:13 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การจ้างงานเดือน ม.ค. 61 หดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 60 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • วันที่ 14 ก.พ. 61 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของยูโรโซน (ตัวเลขคาดการณ์ครั้งที่ 2) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ของญี่ปุ่น (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ของไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 60 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 3.8 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -1.3 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังคงมองว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปี 61 จะฟื้นตัวขึ้นจากโครงการลงทุนภาครัฐที่เริ่มเดินหน้าและความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

การจ้างงานเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 37.0 ล้านคน ลดลง 1.4 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 4.7 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.4 รวมถึงภาคบริการที่มีจำนวนการจ้างงานลดลงเช่นกัน 4.1 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.3 อย่างไรก็ตาม การจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.0 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.7 แสนคน

วันที่ 14 ก.พ. 61 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดิมต่อเนื่องมากกว่า 2 ปีครึ่งติดต่อกัน โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับ ผ่อนคลายและเอี้อต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวเป็นอัตราที่สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.9 ด้านยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยที่หมวดการค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้านขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยผลผลิตสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงขยายตัวมากที่สุดที่ร้อยละ 14.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 (ตัวเลขคาดการณ์ครังที่ 2) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยในหมวดสินค้าทุนขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 7.6 ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญทั้งอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงวัตถุดิบชะลอตัวลงมาก ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 25.4 พันล้านยูโร

UK: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจาก เดือนก่อน โดยราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ชะลอตัวลงเล็กน้อย

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 60 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.8 ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของผลผลิตโลหะประดิษฐ์ และอาหารและยาสูบ

India: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากผลผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 21.0 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 61 ขาดดุล 16.2 พันล้านรูปี

Indonesia: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นมาก ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 677 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี

Malaysia: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยที่การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 5.9

Singapore: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 เนื่องจากยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยานพาหนะลดลงเป็นสำคัญGDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยที่การส่งออกและการนำเข้าเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ทั้งนี้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและเวียดนามขยายตัวอย่างมาก ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก และส่งผลให้ GDP ทั้งปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 1.4 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.7

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงกลางสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 15 ก.พ. 61 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,800.86 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 49,841.34 ล้านบาทต่อวัน สอดคล้องกับดัชนีหลักทรัพย์อื่นๆ ในเอเชีย อาทิ Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) Straits Times (สิงคโปร์) และ BSE 100 (อินเดีย) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์เช่นกัน แม้ว่าปริมาณการซื้อขายจะค่อนข้างเบาบางในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากวันหยุดในเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ดัชนี ดัชนี SET มีแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่ระหว่างวันที่ 12 - 15 ก.พ. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 10,454 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันและระยะกลางค่อนข้างทรงตัว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลง 1-2 bps โดยผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน มีผู้สนใจประมูลเพียง 0.80 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 12 - 15 ก.พ. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 11,397 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 15 ก.พ. 61 เงินบาทปิดที่ 31.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.43 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ยกเว้นเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินสกุลอื่นๆ ยกเว้นเงินเยนและยูโร ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ