รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2018 14:27 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า และอุปสงค์ในประเทศจากการลงุทนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปทานพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า และอุปสงค์ในประเทศจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปทานพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม 2561 ส่งสัญญาณอ่อนแรงลงบ้าง ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี เป็นผลทำให้ทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อปี เป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี โดยเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าที่หดตัว ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจาณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ ร้อยละ 4.1 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่หากพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี สาเหตุหนึ่งเกิดจากการหดตัวของรายได้เกษตรกร ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 66.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.2

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.0 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี อย่างไรก็ดีปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี แต่หากพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2561 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ทำให้ทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี นอกจากนี้ สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี หมวดซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ต่อปี และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนและไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อินเดีย อาเซียน-5 อินโดจีน (CLMV) สหรัฐฯ เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ เป็นผลทำให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.2 ต่อปี ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2561 เกินดุลจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เกินดุลจำนวน 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวน 3.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง กัมพูชา และเยอรมัน เป็นหลัก ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 10.6 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 5.73 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวได้ดี เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดพืชผล จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่หดตัวเป็นสำคัญ เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 หดตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 90.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.9 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 TISI อยู่ที่ระดับ 90.5 สูงขึ้นจะไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.3

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2561 และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมีนาคม 2561 และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ ร้อยละ 0.6 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 215.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุปสงค์จากต่างประเทศขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้า และอุปสงค์ในประเทศจากการลงุทนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับด้านอุปทานพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และดัชนีผลผลิตการเกษตรขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมีนาคม 2561 ส่งสัญญาณอ่อนแรงลงบ้าง ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี เป็นผลทำให้ทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อไตรมาส เป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -5.9 ต่อเดือน โดยเป็นการจัดเก็บฐานมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่หดตัว ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจาณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อไตรมาส เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่หากพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังคงขยายตัวที่ ร้อยละ 7.4 ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวชะลอลงที่ ร้อยละ -2.9 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวในเขตภูมิภาคหดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี เนื่องจากจากราคายางพาราที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้เกษตรกรและกำลังซื้อในระดับฐานรากชะลอลง สำหรับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเขต กทม. ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 66.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 6.6 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.0 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.0 ต่อปี และ เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อไตรมาส อย่างไรก็ดีปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี แต่หากพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อไตรมาส สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2561 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ทำให้ทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อไตรมาส สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ต่อปี หมวดซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ต่อปี และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนมีนาคม 2561 เบิกจ่ายได้จำนวน 220.2 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 198.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 159.7 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 39.1 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 21.3 พันล้านบาท ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 572.8 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 479.2 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 93.6 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 57.9 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนและไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าเกษตรกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน จากยางพาราที่หดตัวในระดับสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อินเดีย อาเซียน-5 อินโดจีน (CLMV) สหรัฐฯ เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดสินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ เป็นผลทำให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 16.2 ต่อปี ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมีนาคม 2561 เกินดุลจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เกินดุลจำนวน 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมีนาคม 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 3.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อเดือน โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง กัมพูชา และเยอรมัน เป็นหลัก ส่งผลทำให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 10.6 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 15.4 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 5.73 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ขยายตัว 5.4 2.6 และ 16.9 ตามลำดับ เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัว ร้อยละ 8.5 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2561 หดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี ซึ่งเป็น การหดตัวของราคาในหมวดพืชผลร้อยละ -7.2 จากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่หดตัวเป็นสำคัญ รวมถึงราคาในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงหดตัวเช่นกัน ที่ร้อยละ -11.7 และ -16.1 ตามลำดับ เป็นผลทำให้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 หดตัวร้อยละ -12.3 ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 90.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 89.9 เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 TISI อยู่ที่ระดับ 90.5 สูงขึ้นจะไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.3

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากราคาค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.09 โดยการลดลงมีที่มาสำคัญจากการลดลงของราคาอาหารสด และราคาน้ำมันขายปลีก เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 215.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

ฉบับที่ 22/2561

วันที่ 27 เมษายน 2561

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ