รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 พฤษภาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 28, 2018 15:57 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลเบิกจ่ายในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึนร้อยละ 13.5 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึนร้อยละ 17.9 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -39.0 พันล้านบาท
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 25.2 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อปี
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 89.1
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 61 หดตัวร้อยละ -9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 1 ปี 61 ของสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 246.4 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 236.6 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 12.6 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 211.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 25.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 41,037 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 13,350 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 4,335 ล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 3,403 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,844.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 58.9 ของวงเงินงบประมาณ (2,900.0 พันล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเม.ย. 61 ได้จำนวน 218.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ต่อปี ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 1,293.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของประมาณการเอกสารงปม.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -39.0 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 4.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -34.1 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 277.9 พันล้านบาท

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 25.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 17.1 ต่อปี

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.1 และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 12.0 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 61ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริง ขยายตัวได้ร้อยละ 4.9 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 61 มีมูลค่า 18,945.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวได้ดีทุกกลุ่มสินค้า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับกลุ่มเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 14.9 และ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 61 มีมูลค่า 20,229.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 9.5 ในเดือนก่อนหรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อน โดยขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มสินค้า อาทิ หมวดเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 4 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 17.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 61 ขาดดุลที่มูลค่า -1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 61 ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลมูลค่า 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 61 มีจำนวน 29,888 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2560 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวที่ร้อยละ 13.3 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 61 มีจำนวน 49,318 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 30.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 25.7 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ใน 4 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 90.7 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้จากการสำรวจค่า TISI ทีปรับลดลง เนื่องจากเดือนเม.ย. มีวันทำงานน้อยกว่าปกติจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตในเดือนเม.ย. ลดลง อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิต จากราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนมี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีแรงหนุนจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน เม.ย. 61 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดประมง หมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 23.8 12.3 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก กลุ่มไม้ผล ยางพารา ข้าวโพดและกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าสำคัญที่ผลผลิตหดตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 61 หดตัวร้อยละ -9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยในเดือน เม.ย. 61 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดประมง หมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ -22.8 -9.3 และร้อยละ -7.0 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ราคายางพาราจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นและภาวะการค้ายังชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาปาล์มน้ำมันจากปริมาณสต็อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ราคาสุกรจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการ ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าวเปลือก

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ 6.62 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายในภาคตะวันตกที่หดตัวมากที่สุดที่ร้อยละ -7.9 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 61 ที่หดตัวร้อยละ -0.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลมาจากยอดใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -5.3 จากเดือนก่อนหน้า ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน เม.ย. 61 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า

Japan: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดอุปกรณ์การขนส่งและแร่เชื้อเพลิง ด้านมูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.9 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้เกินดุลการค้า 625 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาเกือบทุกหมวดสินค้าปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหารสด และของใช้ในครัวเรือนหดตัวลง ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.8 จุด จากดัชนียอดสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

China: improving economic trend

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 61 ภายหลังการประชุมหารือเศรษฐกิจและการค้า (Economic and Trade Consultations) จีนและสหรัฐฯ ตกลงที่จะระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าชั่วคราว และจะดำเนินการหารือแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลของสหรัฐฯ ต่อไป

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 (เบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.2 จุด มาอยู่ที่ระดับ 55.5 จุด จากดัชนีย่อยหมวปริมาณผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน พ.ค. 61 (เบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.7 จุด มาอยู่ที่ระดับ 53.9 จุด จากดัชนีย่อยหมวปริมาณผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวชะลอลงเช่นกัน ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน พ.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ 54.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.1 จุด

South Korea: improving economic trend

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 61 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากธนาคารกลางเกาหลีแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การค้าโลกและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังคงขยายตัวดี

Taiwan: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าส่งค้าปลีก เดือน เม.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดค้าส่งที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.6

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.6 จากราคาสินค้าหมวดอาหารและที่พักอาศัยปรับตัวลดลง

Singapore: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง ขณะที่การบริโภคภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากราคาสินค้าหมวดเครื่องแต่งกายและการสื่อสารที่ปรับลดลง

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ1.3 จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ปรับลดลง

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนคนที่ หางานเต็มเวลามีมากขึ้น ขณะที่จำนวนคนที่หางาน Part Time ลดลง

UK: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับลดลงช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 24 พ.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,732.51 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 21 - 24 พ.ค. 61 ที่ 58,313 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ โดยการปรับตัวของดัชนีฯ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดหลักทรัพย์หลักอื่นๆ เช่น CSI300 (จีน) Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น โดยดัชนี SET ในสัปดาห์นี้มีแรงขายที่เพิ่มขึ้นมากในหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดเหมืองแร่ และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 พ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 14,367.58 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 4-14 bps โดยในสัปดาห์นี้การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10.35 ปี ที่มีผู้สนใจถึง 3.26 เท่าของวงเงินประมูล ส่งผลให้ ระหว่างวันที่ 21 - 24 พ.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,336.08 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 พ.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.32 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.20

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ