รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 กรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2018 14:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • อัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.9
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 61 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 4.1 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ผู้มีงานทำเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ 38.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.9 หมื่นคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังจากหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2.4 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้น 3 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 และภาคบริการที่มีจำนวนลดลงที่ 4.8 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.9 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน เพิ่มขึ้นจำนวน 1.2 หมื่นคน จากปี 2560 ที่มีจำนวนผู้ว่างงานจำนวน 4.1 หมื่นคน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.9 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่มกราคม 58 โดยเป็นผลจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันลดลง ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยยังขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้รายได้ในภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจจะส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล และในไตรมาส 2 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายตัวของปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -0.8 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ 6 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 8.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าที่ชะลอลงหลายหมวด เช่น ยานพาหนะและชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร อาหารสัตว์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น ทำให้ขาดดุลการค้า 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลสูงสุดในรอบ 4 เดือน ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้น 2.13 แสนตำแหน่ง ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 2.44 แสนตำแหน่ง จากการจ้างงานในหมวดค้าปลีกที่ลดลงมากที่สุดที่ 2.16 หมื่นตำแหน่ง ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานอยู่ที่ร้อยละ 62.9 ของประชากรวัยแรงงาน สูงสุดในรอบ 3 เดือนทำให้อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 3 เดือน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า จากราคาในหมวดขนส่งและที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และ 2.8 ตามลำดับ

Japan: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อานิสงส์จากผลผลิตโลหะประดิษฐ์ และอุปกรณ์ขนส่ง ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหาร สุรา และยาสูบขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังฮ่องกงและญี่ปุ่นที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.8 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าคงทนเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัว มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักขยายตัวเร่งขึ้น สวนทางกับหมวดอื่นๆขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าจากการหดตัวของการนำเข้าเครื่องจักรซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลัก ทำให้ขาดดุลการค้า 9.8 ล้านปอนด์

India: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตสินค้าขั้นต้นและเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.7 เท่ากัน

Taiwan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีวันหยุดเทศกาลในเดือน มิ.ย. 61 ซึ่งปกติจะจัดในเดือน พ.ค. ทำให้วันทำงานน้อยลง มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 15.4 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 61 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8

Indonesia: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 128.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 125.1 จุด จากความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเงื่อนไขทางธุรกิจลดลงเล็กน้อย ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากยอดขายสินค้าประเภทอะไหล่และส่วนประกอบที่หดตัว

Malaysia: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.5 จากผลผลิตเหมืองแร่ที่หดตัวที่ร้อยละ -0.4 ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดค้าส่งและค้าปลีกขยายตัว และเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 61 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ด้านยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดรถยนต์และคอมพิวเตอร์ที่หดตัว

Philippines: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูงสุดขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยสินค้าประเภทอุปกรณ์การขนส่งหดตัว ขณะที่เครื่องจักรอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงทำให้ขาดดุลการค้า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนปรับลดลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 12 ก.ค. 61 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,640.93 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 ที่ 46,794 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนี SET ในสัปดาห์นี้สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย อาทิ CSI300 (จีน) Nikkei225 (ญี่ปุ่น) และ STI (สิงคโปร์) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นความไม่แน่นอนด้านการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,263.24 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน มีผู้สนใจเพียง 0.59 เท่าของวงเงินประมูล และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 50 ปี มีผู้สนใจ 2.4 และ 1.0 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 9-12 ก.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -5,600.11 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 12 ก.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ -0.25 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร วอน และหยวน ขณะที่เงินริงกิตและดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักหลายสกุล โดยเฉพาะเงินเยน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.20

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ