รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2019 14:43 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 93.8
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนม.ค. 62 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวที่ ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ ร้อยละ 6.0 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่ 2 ปี 61 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการนำเข้าขยายตัวชะลอลง ในด้านการผลิต ผลผลิตภาคเกษตรชะลอตัวตามผลผลิตพืชหลัก ส่วนภาคนอกเกษตรขยายตัวเร่งขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 62 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาปัจจัยหลายประการประกอบกัน อาทิ ภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว อุปสงค์ประเทศคู่ค้าบางประเทศที่ปรับตัวลดลง และข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อ เป็นต้น ในมิติสินค้า พบว่า สินค้าที่ขยายตัวได้ดีได้แก่ กลุ่มผักผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป นาฬิกาและส่วนแระกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ กลุ่มสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมฯ เป็นต้น ในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า การส่งออกยังยังกลุ่มตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ หดตัว

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 62 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้านำเข้าสำคัญในเดือนดังกล่าวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าหมวดเชื้อเพลิงพลังงาน และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เป็นสำคัญ จากมูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 62 ขาดดุลที่มูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.2 ในเดือน ธ.ค. เป็นการปรับเพิ่มเนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศที่ดี และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตในส่วนภูมิภาค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.9 ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากผู้ประกอบมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อันจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยเป็นผลจากการขยายตัวได้ดีของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 10.3 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และไต้หวันที่ขยายตัวร้อยละ 24.9 และ 31.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้เดือน ม.ค. 62 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 195,847 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 30,221 คัน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 15.0 จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 47,840 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามการขยายตัวของรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน ตามความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาคการก่อสร้าง

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าหมวดเครื่องจักรและหมวดอื่นๆ ที่หดตัวร้อยละ -0.9 และ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 4.9 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -9.3 และ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 247,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -2.7 และ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวในหลายหมวดที่ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อาทิ หมวดพลังงาน หมวดสินค้าวัตถุดิบ และหมวดสินค้าขั้นสุดท้ายและวัสดุที่ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรม

Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.5 จากสินค้าส่งออกใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ม.ค. 62 เกินดุล 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Eurozone: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน ธ.ค. 61 ที่ 1.7 หมื่นล้านยูโร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -7.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -7.9 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุดจากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอลง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.5 จุดจากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมภาคธุรกิจที่เร่งขึ้น ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0 จุด

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.9 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนหดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -1.42 ล้านล้านเยน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ก.พ. 62 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 เดือนที่ระดับ 48.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด จากผลผลิตและยอดสั่งซื้อใหม่ลดลง และคาดการณ์ผลผลิตเป็นลบครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ย. 54 ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาอาหารที่หดตัวร้อยละ -11.1 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดเชื้อเพลิงและนันทนาการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 และ 1.5 ตามลำดับ

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงอัตราฯ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยระดับราคาสินค้าเกือบทุกประเภทลดลง ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับการสื่อสารและสินค้าคงทนที่ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

Hong Kong: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี

UK: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากการค้าปลีกประเภทที่ไม่มีหน้าร้าน (NonStore Retailing) ที่ขยายตัวดี อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่ทศวรรษ 1970

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยจำนวนคนที่หางาน Part Time ลดลง และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 62 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 30

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DAX (เยอรมนี) HSI (ฮ่องกง) และ JCI (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 21 ก.พ. 62 ปิดที่ระดับ 1,647.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 ที่ 45,748 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะส่งสัญญาณประนีประนอมตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,066 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-5 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.56 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -7,774 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 ก.พ. 62 เงินบาทปิดที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.69 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินริงกิต และวอนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.36

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ