รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 - 31 พฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2019 14:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน เม.ย. ปีงปม. 62 เบิกจ่ายได้ 262.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ ร้อยละ 58.0
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนเม.ย. ปีงปม. 62 ได้จำนวน 193.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -93.3 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน เม.ย. 62 มีมูลค่า 67,910 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน เม.ย.62 หดตัวร้อยละ -20.0 ต่อปี
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,960.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 62 ขยายตัว ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 62 (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ขยายตัว ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเร่งขึ้น ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน เม.ย. ปีงปม. 62 เบิกจ่ายได้ 262.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ ร้อยละ 58.0 โดย (1) การเบิกจ่ายรายจ่ายปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 211.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -10.5 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ร้อยละ 59.1 ทั้งนี้แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 186.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -12.0 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ร้อยละ 66.8 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 25.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ร้อยละ 31.2 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 50.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 420.8 ต่อปี คิดเป็น อัตราเบิกจ่ายสะสม 7 เดือนแรกที่ร้อยละ 49.3 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน เม.ย. 62 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 36.5 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 10.9 พันล้านบาท และงบอุดหนุนของกรมทางหลวง 6.5 พันล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.)ในเดือน เม.ย. ปีงปม. 62 ได้จำนวน 193.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี แต่ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -21.0 ต่อปี จากการเลื่อนนำส่งรายได้ของ กฟผ. มาเป็นเดือน พ.ค. 62

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 93.3 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงิน นอกงบประมาณที่เกินดุล 62.2 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 31.1 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 264.0 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน เม.ย. 62 มีมูลค่า 67,910 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าร้อยละ 5.5 เป็นสำคัญ จากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนเม.ย.62 หดตัวร้อยละ -20.0 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -14.0 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ร้อยละ -29.0 ต่อปี ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุของการหดตัวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ได้ออกมาตรการส่งเสริมการขายตั้งแต่ช่วงปลายปี 61 เพื่อเร่งการโอนก่อนที่มาตรการ LTV จะมีผลบังคับในเดือนเม.ย. 62 รวมถึงการชะลอการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนชาวจีนจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,960.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 51.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกิน ร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 86.7 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96.7 ของยอดหนี้สาธารณะ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แหล่งที่มาการขยายตัวของดัชนีฯ ในเดือนนี้มาจากการผลิตรถยนต์โดยเฉพาะการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีการขยายตัวร้อยละ 21.7 และการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เนื่องจากสภาพอากศที่ร้อนจัด นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนเม.ย. อยู่ที่ร้อยละ 63.9 ของกำลังการผลิตรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จึงทำให้มีวันทำงานน้อย

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 6 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการก่อสร้าง ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด ขยายตัวร้อยละ 20.1 และ 32.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ด้านยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.1 ระดับจากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าในหมวดเครื่องมือด้านการขนส่งที่หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 62 ที่อยู่ที่ระดับ 134.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 129.2 จุด จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -0.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ขนส่ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่มและยาที่ขยายตัวชะลอลง และเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 62 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี

Vietnam: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนที่ชะลอตัวลง และขาดดุลการค้าใน เดือน ที่ -1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าปลีกในภาคท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -6.5 จุด เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -7.3 จุด โดยความเชื่อมั่นด้านราคาทั้งในปัจจุบันและอนาคตปรับเพิ่มขึ้นมาก

Japan: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีเกือบทุกหมวดที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากอุปกรณ์การขนส่งและอุปกรณ์สื่อสาร ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวชะลอลง ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไปและเครื่องนุ่งห่มหดตัวต่อเนื่อง

UK: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ -13.0 จุด ทรงตัว จากเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเงินส่วนบุคคลในอนาคตลดลง ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ หดตัวลงต่อเนื่อง และมูลค่าการนำเข้าเดือน เม.ย. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 35.1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

China: worsening economic trend

ดัชนี PMI (NBS) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด จากดัชนีย่อยในหมวดยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลง

Indonesia: improving economic trend

ดัชนี PMI เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด และถือเป็นเดือนที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี จากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมูลค่าการซื้อขายในวันที่ 28 พ.ค. 62 ที่ผ่านมาสูงถึง 204,856 ล้านบาท จากที่ MSCI ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี SET เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค เช่น PSEi (ฟิลิปปินส์) และ JCI (อินโดนีเซีย)เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 30 พ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,621.57 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค. 62 ที่สูงถึง 89,363 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 16,135 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-2 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวปรับลดลง 1-12 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,314 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 30 พ.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.55 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยน วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินยูโรและ ริงกิตอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.42

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ