รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 กันยายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 14:58 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนส.ค 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 62 หดตัวที่ ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ส.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (ตัวเลขปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญที่ร้อยละ 1.7 ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.8 และ -4.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวด ปศุสัตว์และพืชผลสำคัญที่ร้อยละ 9.8 และ 1.0 ขณะที่หมวดประมงผลผลิตหดตัวที่ร้อยละ -8.0 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค 62 มีจำนวน 3.47 ล้านคน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวในอัตราเร่งของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นหลัก ขยายตัวที่ร้อยละ 18.9 ต่อปีอีกทั้งนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 32.4 9.9 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.79 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี โดยขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ปี 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ส.ค. 62 มีมูลค่ารวม 169,772 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 20.1 ต่อปี เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ติดต่อกัน 4 เดือน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวตัวที่ร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญมีการหดตัวเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ค่าดัชนีฯ หดตัวในเดือนนี้ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ หดตัวร้อยละ -7.7 ต่อปี เนื่องจากการหดตัวของทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะไปยังประเทศออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์หดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี ในเดือน ส.ค. ฮาร์ดดิสไดร์ฟกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 13 ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.8 ของกำลังแรงงานการผลิตรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ -32.5 และ -23.3 ต่อปี ตามลำดับ เป็นการหดตัวตามสภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (ตัวเลขปรับปรุงครั้งที่ 3) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เท่ากับตัวเลขปรับปรุงในครั้งก่อนหน้า โดยการขยายตัวดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ 7.13 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ระดับจากยอดขายบ้านใหม่ในภาคตะวันตกและภาคใต้ที่ขยายตัวมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ 125.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวลดลง

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ 45.6 จุด (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.0 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ 52.0 จุด (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.5 จุด ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด จากยอดสั่งซื้อสินค้า.และบริการที่ลดลง

UK: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ระดับ -12.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -14.0 จุด จากดัชนีหมวดย่อยการเปลี่ยนแปลงการเงินส่วนบุคคลในอดีตและการคาดการณ์การเงินส่วนบุคคล 12 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตของภาคการผลิตชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยยอดขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าชะลอตัวลง และอัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 96.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 92.5 จุด

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 62 หดตัวร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -5.7 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนหดตัวถึงร้อยละ -12.5 และมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Philippines: mixed signal

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 62 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปีซึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศได้

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากระดับราคาสินค้าในหมวดคงทนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากราคาในหมวดการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 3 ปีกว่า จากการผลิตสินค้าในหมวดสินค้าโลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น HSI (ฮ่องกง) และ KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 26 ก.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1,636.75 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. 62 ที่ 46,835 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องติดตามการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 62 ของเวียดนามในวันที่ 29 ก.ย. 62 ว่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,383 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 0-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -5,166 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 26 ก.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 30.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ เช่น เงินยูโร และวอน ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ