รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 19 ธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 24, 2019 07:32 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน พ.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.3 จากระดับ 91.2ในเดือนก่อนหน้า
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน พ.ย. 62 มีจำนวน 37.7 ล้านคน หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน และหากขจัดผลทางฤดูกาลหดตัวที่ร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การหดตัวของผู้มีงานทำทั้งจากภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยภาคเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -3.8 และนอกภาคเกษตรหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากแยกเป็นอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตร พบว่า ภาคอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ -0.3 มาจากการหดตัวของภาคการผลิตที่เป็นสำคัญ ขณะที่ภาคบริการหดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี เป็นการหดตัวที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.2 ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนพ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนพ.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.3 จากระดับ 91.2 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยวันทำงานที่จะหยุดเทศกาลในเดือนหน้า รวมทั้งยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 101.3 จากระดับ 102.9 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ จากยอดค้าปลีกในหมวดห้างสรรพสินค้าที่หดตัวถึงร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดสร้างบ้านแบบคอนโดมิเนียมที่ชะลอลง สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดใบอนุญาตสร้างบ้านใหม่แบบบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมส์ และคอนโดมิเนียม ที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตในหมวดเชื้อเพลิง สินค้าไม่คงทน และสินค้าคงทนที่หดตัวเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยภาคการผลิต ภาคเหมืองแร่ และภาคสาธารณูปโภคขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 โดยยอดขายเครื่องสำอาง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ขยายตัวเร่งขึ้นในระดับสูง

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวม (เบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 45.9 จุด ต่ำสุดในรอบสองเดือน สวนทางกับ PMI ภาคบริการ (เบื้องต้น) อยู่ที่อยู่ที่ระดับ 52.4 จุด สูงสุดในรอบสี่เดือน ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 2.8 หมื่นล้านยูโร และอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -9.2 เดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดสินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้าที่หดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -15.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -14.8 เดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่ และเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลเคมีภัณฑ์ที่หดตัว ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน พ.ย. 62 ที่ 8.2 แสนล้านเยนและเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

Philippines: worsening economic trend

อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.4 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 0.8 จากราคาในหมวดการขนส่ง และเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น

UK: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวม (เบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปีกว่า สอดคล้องกับที่ PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ที่ระดับ 47.4 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และ PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ด้านอัตราว่างงาน เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.76 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Indonesia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 จากสินค้าก๊าซและน้ำมันที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -16.5 จากการนำเข้าสินค้าทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ขาดดุลการค้า -1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ร้อยละ -6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -9.3 จากการส่งออกสินค้าทุกประเภทยกเว้นน้ำมัน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทีร้อยละ -10.3 จากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นประเภทสัตว์ และผัก และสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong

อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 62 ทรงตัวที่ระดับร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม

Australia: improving economic trend

อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางาน Full Time และ Part Time เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 18 ธ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,563.74 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 16 - 18 ธ.ค. 62 ที่ 54,600 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และ นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 18 ธ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,498 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางปรับลดลง 1-3 bps จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น 0-2 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีมีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 16 - 18 ธ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -2,149 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 18 ธ.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.19 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.06

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ