รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 10 มกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 13, 2020 16:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.87 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.49 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย. 62 เกินดุล 3,375.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของม.หอการค้าไทย ในเดือน ธ.ค. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 56.0
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ของ GDP
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.87 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นยจากเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.71 โดยเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. 62 ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีสาเหตุสำคัญจากราคาข้าวสารที่ปรับสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ รวมถึงราคาเนื้อสุกรจากต้นทุนการเฝ้าระวังโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้หมวดอาหารสดสูงขึ้นร้อยละ 3.34 ขณะที่หมวดพลังงานลดลงน้อยที่สุดในรอบปีที่ร้อยละ -0.02 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.49 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปี 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.52

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย. 62 เกินดุล 3,375.2 Pล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล cimโอนเกินดุลที่ 1,406.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 1,969.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่cลดลงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 33,199.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 62 มียอดคงค้าง 18.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจหดตัวที่ร้อยละ -0.5 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ย. 62 มียอดคงค้าง 20.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.6 ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ธ.ค. 62 เท่ากับ 105.0 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมีสาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ร้อยละ -12.3 ต่อปี จากราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลง และมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายเป็นปริมาณมาก ทำให้ในไตรมาส ที่ 4 และทั้งปี 62 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -2.8 และ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 เริ่ม มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง โครงการบ้านดีมีดาวน์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านการก่อสร้างภายในประเทศ

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธ.ค. 62 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -5.5 โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตภูมิภาคร้อยละ -18.8 และเขต กทม. หดตัวที่ร้อยละ -12.1 ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปี 62 และทั้งปี 62 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -7.3 และ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน ธ.ค. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 56.0 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยมีปัจจัยลบจากการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลรายได้ของเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ยังแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลของประเทศคู่แข่งในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลบกับผู้ส่งออกโดยรวม

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,945.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.3 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 65.3 พันล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 91.3 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.2 ของยอดหนี้สาธารณะ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 126.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.2 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดการผลิตที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 55.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.3 และมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.2 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน พ.ย. 62 ที่ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Eurozone: mixed signal

ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 52.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.9 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายทุกหมวดที่เร่งขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -8.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -7.2 จากความเชื่อมั่นด้านการเงินที่ลดลง อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 ลดลงอยู่ที่ระดับ 48.4 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.9 จุด จากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ และการลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายดัชนี PMI ภาคบริการ ปรับตัวลงที่ระดับ 49.4 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 50.3 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นผลมาจากกิจการใหม่ที่ขยายตัวได้น้อย และดัชนีราคาสินค้าที่ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ดัชนี PMI รวม ปรับตัวลงที่ระดับ 48.6 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 49.8 จุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงกิจการเอกชนที่ซบเซาลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 39.0 จุด จากระดับ 38.7 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน

UK: improving economic trend

ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.0 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.3 จุด จากความต้องของลูกค้าในช่วงปลายปีที่เพิ่มขึ้น

Malaysia: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากการผลิตสินค้าจากทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น

South Korea: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -0.7 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิต ยอดคำสั่งซื้อ และราคาผลผลิตเพิ่มขึ้น

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.9 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ -4.4 จากหมวดสินค้าเกี่ยวกับสายตา และหนังสือที่เพิ่มขึ้น

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 52.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.4

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -8.0 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 127 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Australia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในกลุ่มทรัพยากรปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์การขนส่งที่ไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 5.8 พันล้านดอลลาร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 9 ม.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,579.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 6 - 9 ม.ค. 63 ถึง 66,209 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 - 9 ม.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,577 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 0-8 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.49 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 6 - 9 ม.ค. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,867 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 9 ม.ค 63 เงินบาทปิดที่ 30.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.65 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า เงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.38

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ