รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2020 14:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -42.8 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ก.พ. 63 ขาดดุลจำนวน -19,307 ล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 63 ขยายตัว ณ ระดับราคาคงที่ ที่ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.พ.63 หดตัวร้อยละ -18.8 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -18.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 63 มีมูลค่า 20,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ อาวุธ กระสุนและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกบางรายการสินค้าสำคัญยังมีสัญญาณการขยายตัว อาทิ ทองคำ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังคงมีสัญญาณหดตัว ขณะที่ การส่งออกไปยัง สหภาพยุโรป อาเซียน กลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง ขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 63 มีมูลค่า 16,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้แก่ อาวุธยุทธปัจจัย ขณะที่ กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หดตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ยังคง หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ก.พ. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 3,897 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 63 มีจำนวน 2.06 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -42.8 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวลดลงที่ร้อยละ -44.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 16 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2546 โดยเป็นผลจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวเกือบทุกประเทศ ยกเว้นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียขยายตัวถึงร้อยละ 11.9 ต่อปี ทำให้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติใน เดือน ก.พ. 63 มีมูลค่ารวม 103,714 ล้านบาท หดตัวที่ ร้อยละ -43.9 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวร้อยละ -89.4 เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. ปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 186,390 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 35.0 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 168,690 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 34.1 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 161,795 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 41.0 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 6,895 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -76.5 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 6.4 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 17,700 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 46.8 ต่อปี

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. ปีงปม. 63 ได้จำนวน 168,982 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี และ(2) รายได้จากหน่วยงานอื่นขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี แต่การสูญเสียรายได้จากการคืนภาษีและจัดสรรรายได้ให้หน่วยงานต่างๆ ขยายตัวร้อยละ 24.0 ทำให้รายได้สุทธิของรัฐบาลหดตัวลง และ 5 เดือนแรกของปี งปม. 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 985,344 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 63 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุล จำนวน -19,307 ล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงิน นอกงบประมาณที่ขาดดุล -2,779 ล้านบาท ส่งผลให้ ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -22,086 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล และทำให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลอยู่ที่ 4,607 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ 342,436 ล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 63 มีมูลค่า 66,444 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาคงที่ที่ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยังคงได้รับอนิสงค์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -16.9 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -18.8 ต่อปี และหดตัวลงร้อยละ -0.8 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ชะลอตัวตามยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคในประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมให้ชะลอตัวยิ่งขึ้น ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ หดตัวที่ร้อยละ -18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 63 มีจำนวน 27,356 คัน หดตัวที่ร้อยละ -15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -19.9 จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง หดตัวที่ร้อยละ -7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 63 มีจำนวน 40,915 คัน หดตัวที่ร้อยละ -18.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -6.6 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล หดตัวตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถาณการณ์ไวรัสโควิด-19 ถึงแม้บริษัทรถยนต์บางรายได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายแล้วก็ตาม ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญที่ร้อยละ -7.6 ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 และ 8.9 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวด ปศุสัตว์ ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 และ 4.2 ตามลำดับ ขณะที่ราคาในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -15.9 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 63 หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -5.8 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน ก.พ. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ อาหาร และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกที่หดตัวที่ร้อยละ -18.8 -10.6 และ -6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยมาจากเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมหดตัว เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ที่หดตัวร้อยละ -20.5 และ -8.9 ต่อปีตามลำดับ จากความต้องการใช้งานที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของ ปี 63 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.9 ผลจากดัชนีย่อยเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ส่วนตัวเลขดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 57.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.5 จากดัชนีย่อยเกือบทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ 6.8 แสนหลังต่อปี คิดเป็น การหดตัวที่ร้อยละ -4.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายในภาคตะวันตกตอนกลางและภาคตะวันตกที่หดตัวมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากหมวดที่อยู่อาศัย อาหาร และขนส่งที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 ปี 62 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -22.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่า การนำเข้าเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน .หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -11.6 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -6.6 จุด ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลข เบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 39.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.7 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 92 เดือน จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 28.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 245 เดือน จากผลกระทบไวรัสโควิด-19

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าในหมวดอาหารและค่าขนส่งที่ลดลง เป็นสำคัญและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Taiwan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 20.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.11 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย การเพิ่มขึ้นของหมวดอุตสาหกรรม ไฟฟ้า แก๊ส และเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ 3.7 ของกำลังแรงงานรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 78.4 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 96.9 ถือเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี

UK: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดโรงแรม ร้านอาหาร และพลังงานเป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากทุกหมวดไม่รวมหมวดอาหารและอุปกรณ์ภายในบ้านที่ลดลง ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 26 มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.7 จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 35.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.2 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 245 เดือน จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 เป็นสำคัญ

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดราคาค่าขนส่งที่ลดลงเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,091.96 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 23 - 26 มี.ค. 63 ที่ 65,279.72 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัยพ์ทั่วโลก โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุน นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิสำหรับสัปดาห์หน้ายังต้องติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและนโยบายพยุงเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆทั่วโลกจากผลกระทบของ COVID-19 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 - 27 มี.ค. 63นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -8,237 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุ ปรับตัวลดลง 10-27 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี 20 ปี และ 50 ปี ซึ่งนักลงทุนสนใจ 1.27 เท่า 4.03 เท่า และ 2.22 เท่า ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 23 - 26 มี.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -11,961 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 26 มี.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.86 จากสัปดาห์ก่อนหน้า เช่นเดียวกับเงินเยน ขณะเดียวกันเงินสกุลหลักอื่น ๆ แข็งค่าขึ้น อาทิ เงินหยวน เงินวอน ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินยูโร โดยรวมส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวอ่อนค่าลง ร้อยละ -1.29 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ