รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 3 เมษายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2020 15:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,027,912 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.พ. 63 เกินดุล 5,381.6 ดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,027,912 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 41,210 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 92.3 ของยอดหนี้สาธารณะและเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -4.8 โดยเป็นผลจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มากขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.พ. 63 เกินดุล 5,381.6 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,444.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -12.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,394.190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เกินดุลรวม 37,307.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 63 มียอดคงค้าง 18.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวทรงตัว ในขณะที่สินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจหดตัวที่ร้อยละ -0.4 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 63 มียอดคงค้าง 20.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.8 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในปีนี้ โดยที่ดัชนีฯหมวดย่อยเกือบทุกหมวดปรับตัวลดลง ยกเว้นดัชนีการส่งมอบของผู้ผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัว ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดพลังงานและอุปกรณ์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ยังหดตัวที่ ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: improving economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.1 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.3 จุด ดัชนีฯ(PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 43.0 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26 จุด

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -11.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากทุกหมวดที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากหมวดพลังงานที่มีการหดตัวเพิ่มขึ้น อัตราว่างงาน เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.3 .ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ 44.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกกรมที่ลดลง

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 63 อยูที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 หลังจากหดตัวมา 4 เดือนติดต่อกัน ซึ่งมีปัจจัยมาจากการจำหน่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องมือเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอางเป้นสำคัญ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.2 จากระดับ 48.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี จากคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่ปรับดลลงอันเป็นผลกระทบจาก COVID-19

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

UK: worsening economic trend

GDP ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.3 ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ 47.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 หดตัวถึงร้อยละ -44.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายเสื้อผ้าหดตัวถึงร้อยละ -71.2

India: worsening economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 51.8 จากระดับ 54.5 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่มีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในเดือนนี้

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 33.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.0 จุด ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.3

Malaysia: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากไม้และไม้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวที่ ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่งผลให้เกินดุลการค้าจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.26 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย

Philippines: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 39.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ2.96 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าในหมวดเฟอร์นิเจอร์ลดลงเป็นสำคัญ

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 41.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,138.27จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 63 ที่ 58,625.09 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -6,304.37ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-23 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 2 เม.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -8,262.32ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 เม.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 33.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.81 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ หยวน ริงกิต และเงินยูโร ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวลดลงร้อยละ -1.18 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ