ก.คลังดึงศักยภาพกรุงไทยออกผลิตภัณฑ์การเงินเร่งสนับสนุนลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 11, 2020 08:51 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลัง มอบนโยบายกรุงไทย วางแนวคิดทำงานเชิงรุก สนับสนุนการลงทุนในโครงการพัฒนา EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ชี้กรุงไทยมีศักยภาพสูง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน จากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศ มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ว่า ธนาคารกรุงไทย เป็นสถาบันการเงินที่มีศักยภาพสูงในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ จากการเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC หรือนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการเป็นผู้นำสนับสนุนสินเชื่อในการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบดิจิทัล และยานยนต์สมัยใหม่ต่างๆ หรือ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่มองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นต้น

“ด้วยศักยภาพของกรุงไทย ที่ควรวางแนวทางการทำงานเชิงรุก สร้างมาตรการจูงใจผู้ประกอบการและนักลงทุนในการทำโครงการนำร่องสนับสนุนโครงการลงทุนใน EEC โดยกำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้นักลงทุนเกิดการตื่นตัวและมั่นใจว่า กรุงไทยพร้อมสนับสนุนเงินทุน ซึ่งคุณสมบัติของกรุงไทยอยู่ในแนวทางที่รัฐวางไว้ ที่อยากให้เข้ามามีส่วนสนับสนุน เพื่อให้มาเป็นแกนหลักในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากฝากกรุงไทยไปพิจารณาแนวทางการปล่อยสินเชื่อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ โดยอาจจะมีโครงการนำร่องอะไรได้บ้าง” นายสันติ กล่าว ในส่วนการดำเนินงานของกรุงไทยนั้น จากที่มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL กว่า 1 แสนล้านบาท มีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPA กว่า 40,000 ล้านบาท เชื่อว่ากรุงไทยจะบริหารจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการดำเนินงานของกรุงไทย จะดูแลประคับประคองผู้ประกอบการ ให้โอกาสจนถึงที่สุด

“ขณะนี้พัฒนาการของการสินเชื่อไปไกลมากในหลายประเทศในโลก มองว่าการให้โอกาสเป็นประโยชน์ แต่ในหลายกรณี ถ้าลูกค้าไม่สามารถประกอบการได้ดี เนื่องจากเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเปลี่ยน เทรนด์โลกเปลี่ยนไป แต่ธนาคารยังพยายามให้โอกาส สิ่งเหล่านี้ผมไม่อยากชี้ว่ามันถูกหรือไม่ถูก แต่มองว่า ในหลายธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าไปไม่ได้ ก็คือไปไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยน หรือปรับปรุงผู้ประกอบการ ไม่เช่นนั้นนอกจากทรัพย์สินของธนาคารที่ใช้ไป จะไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจแล้ว ยังจะทำให้เศรษฐกิจเสียหาย จึงอยากฝากธนาคารดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย” นายสันติ กล่าว

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ