รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 มิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 15, 2020 13:54 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 63 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 63 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากปรับผลทางฤดูกาล พบว่าหดตัวร้อยละ -10.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการเลื่อนช่วงสงกรานต์ออกไป โดยยอดการใช้งานในเดือนนี้ยังคงลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยรัฐได้ประกาศมาตรการผ่อนปรน เฟส 4 เริ่ม 15 มิ.ย.63 นี้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมด รวมถึงโครงการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่เร่งเดินหน้าเบิกจ่าย จะเป็นส่วนเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ของธนาคากลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 9-10 มิ.ย. 63 ยังคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0-0.25 ต่อไปด้วยมติเอกฉันท์ และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของราคา

China: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาอาหารและยาสูบปรับตัวลดลง

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 final ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -2.2 .จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หากขจัดผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวที่ร้อยละ -0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 หดตัวถึงร้อยละ -15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. ปี 63 หดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนหดตัวมาก ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.5 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 63 สูงขึ้นที่ร้อยละ 4.5 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม อัตราการว่างงานอยู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 53

UK: worsening economic trend

ดุลการค้า เดือน เม.ย. 63 เริ่มกลับมาเกินดุลอยู่ที่ 305 ล้านปอนด์ หลังจากที่ติดลบมากถึง -3,956 ล้านปอนด์ในเดือน มี.ค. 63 โดยทั้ง การส่งออกและนำเข้าปรับตัวลดลงจากเดือน มี.ค. 36 ถึงร้อยละ -19.3 และ -26.2 ตามลำดับ นับเป็นมูลค่าการส่งออกนำเข้าที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 53 ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 ยังคงปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยหดตัวมากถึงร้อยละ -24.40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน มี.ค. 63 ลดลงร้อยละ -8.2 อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง และการใช้มาตรการปิดประเทศ

Malaysia: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -32.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าในหมวดแร่อโลหะ โลหะ และโลหะแปรรูปที่ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี โดยหดตัวที่ร้อยละ -32.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่ลดลงเป็นสำคัญ

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -50.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -24.7 จากทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรที่หดตัวมากที่สุด ด้านการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -65.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.2 จากทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัวมากที่สุด ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 63 ขาดดุลที่ -499.2 ล้านดอลล่าร์

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.5 จากทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวหดตัวมากที่สุด ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 77.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 84.8 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,396.77 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 63 ที่ 95,318 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 195 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง -1 ถึง -11 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 8 - 11 มิ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ตลาดพันธบัตรสุทธิ 8,509 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 11 มิ.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 30.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ