รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 ตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2020 15:45 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ก.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.2 จากระดับ 84.0 ในเดือนก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 63 หดตัว ชะลอลงที่ร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
          - ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน         ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ในเดือน ก.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี
  • GDP ของจีน ไตรมาสที่ 3 ปี 63 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนก.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85.2 จากระดับ 84.0 ในเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยให้กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 93.3 จากระดับ 94.5 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 63 มีจำนวน 29,209 คัน หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวได้ดีที่ ร้อยละ 32.6 แม้ว่าสถาบันการเงินจะยังเข้มงวดด้านสินเชื่อ แต่โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งเริ่มเร่งอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองตลาดรถยนต์ที่กำลังฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา มีการจัดงาน Big Motor Sale 2020 ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -30.4 และขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้าถึงร้อยละ 64.1 สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.ย. 63 มีจำนวน 48,698 คัน ขยายตัวร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวได้ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 และขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล ตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวเช่นกัน ร้อยละ 11.6 ต่อปี เนื่องจากการผ่อนคลาย มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นของภาครัฐ รวมถึงมาตรการการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของภาครัฐ การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่รวมทั้งการส่งเสริม การขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ และการจัดงานมอเตอร์โชว์และงาน Big Motor Sale 2020 ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง

Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 63 มีมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงยังคงหดตัวที่ร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวที่น้อยลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะถุงมือยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผักผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน น้ำตาลทราย ข้าว ยางพารา และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงหดตัวแต่มีทิศทางปรับตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 19.7 และ 6.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ย. 63 มีมูลค่า 17,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากทุกกลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง กลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าทุน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -14.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ก.ย. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 20.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือน ก.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศชาติหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี เช่นกัน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ปิดด่านตรวจคนเข้าทั่วประเทศ และประกาศของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) กำหนดให้การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสามารถกระทำได้ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวและต้องเป็นไปตามเงื่อนไข จึงทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 เป็นต้นมา แต่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มแรกเดินทางมาในเดือนตุลาคม 2563 เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) หรือ การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้แบบจำกัดจำนวน

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ต.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่อยู่ที่ระดับ 85 จุด สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 83 จุด จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่อยู่อาศัยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ช่วยกระตุ้นความต้องการบ้านใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้คนเลือกที่จะย้ายออกจากเมืองใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายในปัจจุบันเพิ่มขึ้นที่ระดับ 90 จุดจาก 88 จุดเมื่อเดือน ก.ย. 63 และการประเมินยอดขายบ้านในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 88 จุดจาก 85 จุดเมื่อเดือน ก.ย. 63 สำหรับยอดเริ่มสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 63 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากที่หดตัวร้อยละ -6.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดการสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ยกเว้นในเขตมิดเวสต์ จากจำนวนการสร้างบ้านใหม่สำหรับครอบครัวเดี่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

China: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงที่สุดในปีนี้ โดยภาคการผลิตและเหมืองแร่ขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นถึงร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Japan: mixed signal

ดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 เกินดุลที่ 674.98 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยที่ การส่งออก เดือน ก.ย. 63 มีมูลค่า 6.06 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลงได้แก่ เครื่องมือเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่ การนำเข้า เดือน ก.ย. 63 มีมูลค่า 5.38 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 17.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่นำเข้าลดลงได้แก่ อุปกรณ์ด้านการคมนาคม ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าหมวดพลังงาน

EU: worsening economic trend

ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ส.ค. 63 เกินดุลอยู่ที่ 21.8 พันล้านยูโร โดยเกินดุลลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 32.1 พันล้านยูโรสาเหตุหลักที่เกินดุลลดลงเนื่องจากดุลบริการและรายได้ทุติยภูมิที่เกินดุลลดลง และรายได้ปฐมภูมิขาดดุลเล็กน้อย

UK: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากที่เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด โดยเป็น การเพิ่มขึ้นจากต้นทุนทางนันทนาการและวัฒนธรรม (ร้อยละ 2.4) ต้นทุนขนส่ง (ร้อยละ 0.9) และภัตตาคารและโรงแรม (ร้อยละ -0.7) เป็นสำคัญ

Hongkong: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.7 ของกำลังแรงงานรวม สูงที่สุดในปีนี้ โดยปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 6.4

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย.63 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อนหน้า จากระดับราคาบ้าน ค่าขนส่งและเสื้อผ้า ที่ยังคงหดตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ บางประเทศ ที่ปรับตัวลดลง เช่น STI (สิงคโปร์) และ STOXX50E (สหภาพยุโรป) เป็นต้น ดัชนี SET เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,216.48 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 19 - 21 ต.ค. 63 ที่ 55,905.35 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 21 ต.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -1,329.10 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ไม่มีการปรับตัว ระยะกลาง (1ปี - 10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0 ถึง 3 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ถึง 4 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 4.14 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 19 - 21 ต.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,905.28 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 21 ต.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -78,041.05 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 ต.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่เงินสกุล เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนล้วนแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.50 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ