สบน. ผนึกกำลังภาครัฐยกระดับการคืนภาษี “วอลเล็ต สบม.”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2021 11:09 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับกรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ผนึกกำลังภาครัฐยกระดับบริการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยเป็นครั้งแรกที่ผู้ลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์สามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ซื้อจากตลาดรองในส่วนที่ได้รับยกเว้นผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทำให้การลงทุนง่ายและสะดวกกว่าเดิม ตอบโจทย์นโยบายการลงทุนด้วยนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า สบน. พัฒนาต่อยอดการลงทุนผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับบริการภาครัฐ โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีและได้รับเงินคืนจะเป็นผู้ซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ในตลาดรองผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งได้เชื่อมโยงข้อมูลภาษีกับกรมสรรพากร ทำให้สามารถตรวจสอบการหักภาษีตามจำนวนวันที่ถือครองจริง โดยหากได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืนเข้าวอลเล็ต สบม. ประมาณ 10 วันทำการ หลังจากได้รับดอกเบี้ย การดำเนินการในครั้งนี้ นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ลงทุนอัตโนมัติ ซึ่งผู้ลงทุนยังสามารถเรียกดูรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้จากวอลเล็ต สบม. แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนงานให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านตลาดรองอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถซื้อขายพันธบัตรและใช้บริการขอคืนภาษีอัตโนมัติผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่บัดนี้ต้นไป โดยผู้ที่เคยยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยบัตรประชาชน (Dip chip) ที่ธนาคารกรุงไทยแล้ว สามารถสแกนใบหน้าในแอปพลิเคชัน และทำธุรกรรมตลาดรองได้ทันทีโดยไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถทราบราคาพันธบัตร ตรวจสอบรายละเอียดและสถานะธุรกรรม และรายการที่หักภาษีทั้งแบบรายรุ่นและรายปีภาษีได้ทันทีผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สบน. ขอขอบคุณที่ให้ความสนใจลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ และขอให้ติดตามข่าวสารการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเว็บไซต์ http://www.pdmo.go.th และ Facebook ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0 2271 7999 ต่อ 5809/ 0 2265 8050 ต่อ 5307


          ที่มา: กระทรวงการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ